xs
xsm
sm
md
lg

ผิวหนังอักเสบจาก “แมลงก้นกระดก” ทำอย่างไรดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอยันพิษจากแมลงก้นกระดก ไม่ทำให้ตาย อาการผื่นผิวหนังอักเสบหายได้เองใน 1 - 2 สัปดาห์ เว้นติดเชื้อรุนแรงควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีการแชร์ภาพผื่นผิวหนังจากแมลงก้นแหลมชนิดหนึ่งทางสื่อสังคมออนไลน์ จนถึงขั้นระบุทำให้เสียชีวิต ว่า อาการผิวหนังอักเสบจากแมลงด้วงก้นกระดก เกิดจากการสัมผัสสารพีเดอริน (Paederin) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน จากการปัดด้วงก้นกระดกที่มาเกาะตามร่างกาย หรือบี้ทำให้แมลงท้องแตกและสัมผัสกับสารพิษนั้น โดยจะทำให้เกิดผื่นระคายเคืองแดงคัน ส่วนอาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณสารพิษที่สัมผัส ซึ่งหากสัมผัสสารพิษจำนวนมากจะเป็นหนอง ผื่นวางเรียงตัวเป็นแนวยาว เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีอาการโรคติดเชื้อรุนแรงควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม พิษจากแมลงด้วงก้นกระดกไม่ทำให้มีอันตรายถึงชีวิต ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลมากเกินไป

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า แมลงนี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่า ด้วงก้นกระดก ชื่อเรียกอื่นๆ คือ แมลงก้นกระดก ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน ด้วงกรด หรือ แมลงเฟรชชี่ เพราะพบบ่อยในหมู่นักศึกษาใหม่ที่อยู่หอปีแรก เป็นต้น แมลงชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Paederus fuscipes Curtis มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า “Rove beetles” ตัวเต็มวัยมีสีดำสลับส้ม ยาวประมาณ 5 - 7 มิลลิเมตร หัวสีดำ อกส่วนหน้าแบนยาว ส่วนท้องมี 6 ปล้อง 4 ปล้องแรก สีส้มอมน้ำตาล ส่วนที่เหลือสีดำ ขาทั้ง 3 คู่ มีสีน้ำตาลแดง ปีกแข็งด้านบนสีน้ำเงินเข้มและปีกอ่อนข้างใต้ เป็นแมลงที่มีอายุอยู่ได้ยาวนาน มีความว่องไว ไต่ไปตามต้นข้าว บินได้เร็วและว่องไว เวลาวิ่งจะยกปลายท้องตั้งขึ้นคล้ายแมงป่องจนเรียกว่า “ด้วงก้นกระดก”

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า ด้วงก้นกระดกจะมีสารพิษชื่อว่า พีเดอริน (Paederin) สารชนิดนี้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนสามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้ ด้วง 1 ตัว จะมีสารพิษอยู่ในตัวประมาณร้อยละ 0.025 ของน้ำหนักตัว โดยตัวเมียจะมีปริมาณสารพิษมากกว่าตัวผู้ ทำให้อาจเป็นเหตุให้เข้าใจผิดได้ว่า แมลงชนิดนี้ไม่มีอันตรายมาก เพราะหากเคยโดนด้วงตัวผู้ จะไม่ค่อยมีอาการเนื่องจากมีสารพิษจำนวนน้อย ทั้งนี้ อาการผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสสารพีเดอรินของด้วงก้นกระดก อาการจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่จะมีอาการหลังสัมผัสแล้วประมาณ 8 - 12 ชั่วโมง ทำให้อาจจะไม่ได้ประวัติการสัมผัสแมลงที่ชัดเจนจากผู้ป่วย สำหรับรอยโรคพบมากบริเวณนอกร่มผ้า โดยมีลักษณะเป็นผื่นแดง หรือเป็นรอยไหม้ รูปร่างมักเป็นทางยาว ทิศทางหลากหลายตามรอยการปัด ผื่นมีขอบเขตชัดเจน ในระยะต่อมาจะมีตุ่มน้ำพองใสและตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้นตามมาในเวลา 2 - 3 วัน อาการคันมีไม่มากนัก แต่มักมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย เมื่อสัมผัสกับสารพีเดอรินในบริเวณรอยพับต่างๆ อาทิ ข้อศอก ข้อเข่า มักกระจายไปสัมผัสทั้งสองด้าน จะเกิดผื่นสองผื่นที่ลักษณะคล้ายกันในแต่ละด้าน

“หากสารพีเดอรินกระจายถูกบริเวณดวงตา ก็จะเกิดอาการตาบวมแดงและอาจทำให้ตาบอดได้ อาการที่ตานี้ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ตาอักเสบแบบไนรูบี” (Nairobi eye” or “ Nairobi conjunctivitis”) เพราะแมลงเหล่านี้ก็พบได้บ่อยแถวแอฟริกาด้วยเช่นกัน โดยผื่นบริเวณใบหน้า รอบดวงตา หรือบริเวณผิวอ่อน มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าที่อื่น ส่วนบริเวณฝ่ามือซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่สัมผัสสารพิษเป็นแห่งแรก กลับไม่ค่อยมีอาการเนื่องจากบริเวณนี้มีผิวหนากว่าผิวส่วนอื่น อย่างไรก็ตาม อาการอักเสบเหล่านี้จะหายไปในเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ โดยอาจจะมีรอยดำหลังการอักเสบได้ในระยะสั้นๆ แต่มักจะไม่เป็นแผลเป็น โดยทั่วไป อาการจะไม่รุนแรง และไม่มีอาการระบบอื่น ยกเว้นในรายที่ได้รับพิษจำนวนมาก หรือมีอาการแพ้รุนแรง จะมีไข้สูง และอาการทางระบบหายใจได้” พญ.มิ่งขวัญ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น