สำรวจพบคนไทยกว่า 60% ยังเข้าใจผิด กิน “ไข่” เป็นของแสลง ทำแผลปูด - แผลเป็น ย้ำ ดูแลแผลต้องทำความสะอาดแผล ป้องกันติดเชื้อ บำรุงร่างกายด้วย “โปรตีน” ช่วยสร้างเนื้อเยื่อ “วิตามินซี” ทำเส้นเลือดฝอยแข็งแรง ไม่อักเสบ และ “สังกะสี” มีมากในเนื้อสัตว์ ไข่
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการสำรวจความเชื่อด้านสุขภาพของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในเขต กทม. ปริมณฑล และ 4 ภาค จำนวน 501 คน เดือนตุลาคม 2559 เกี่ยวกับการดูแลรักษาบาดแผลทั่วๆ ไป พบว่า ร้อยละ 60 มีความเชื่อผิดๆ ว่า การรับประทานไข่ ทำให้แผลปูด และเป็นแผลเป็น โดยผู้หญิงเชื่อร้อยละ 61 ผู้ชายเชื่อร้อยละ 58 กลุ่มอายุที่มีความเชื่อเรื่องนี้มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 68 โดยผู้มีระดับการศึกษาต่ำจะมีความเชื่อเรื่องนี้สูง กล่าวคือ ระดับการศึกษาประถมศึกษาเชื่อมากที่สุด ร้อยละ 63 รองลงมาคือ มัธยมศึกษา ร้อยละ 60 ขณะที่ผู้จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เชื่อร้อยละ 46 ภาคที่มีความเชื่อสูงสุด คือ ภาคเหนือ ร้อยละ 74 รองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ 69 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 62 กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ร้อยละ 55 ส่วนภาคใต้มีความเชื่อต่ำสุด คือ ร้อยละ 39
นพ.ประภาส กล่าวว่า การดูแลบาดแผลทุกชนิด ไม่ว่าแผลถลอก แผลเล็ก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และแผลผ่าตัด มี 2 ประการ คือ 1. การรักษาความสะอาดแผล ป้องกันการติดเชื้อโรค และ 2. การบำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยสารอาหารที่ช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น ได้แก่ “โปรตีน” ซึ่งอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น โดยโปรตีนจะช่วยสร้างเนื้อเยื่อทำให้เซลล์แต่ละเซลล์ประสานยึดติดเป็นเนื้อเดียวกัน “วิตามินซี” ซึ่งมีมากในผลไม้สดทุกชนิดพบมากในฝรั่ง มะละกอ ส้มต่างๆ และยังพบในผัก เช่น บร็อกโคลี พริกหวานสีแดง โดยวิตามินซีจะทำหน้าที่สร้างผนังของเซลล์ ทำให้เส้นเลือดฝอยมีความแข็งแรง และไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ และยังช่วยในการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น และ “ธาตุสังกะสี” ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์ นม ไข่ ตับ ถั่วเหลือง ช่วยให้เซลล์จับกับวิตามินกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น ดังนั้น ไข่จึงไม่ใช่อาหารแสลง หรืออาหารต้องห้ามอย่างที่เข้าใจกันแต่อย่างใด
“ส่วนแผลเป็นที่ปูดโต ไม่ได้เกี่ยวกับการกินไข่ แต่เป็นธรรมชาติของเนื้อหนังของแต่ละบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกัน โดย สบส. ได้ให้ อสม. ให้ความรู้ประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ ผ่านทางหอกระจายข่าวต่อไป อย่างไรก็ตาม การดูแลบาดแผลทั่วไป ขอแนะนำให้ประชาชนทำความสะอาดแผลทุกวัน หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสกปรก หรือเปียกน้ำ เพราะอาจทําให้แผลเกิดการอักเสบได้ และควรสังเกตลักษณะบาดแผล หากแผลบวม แดง ร้อน สีของบาดแผลเปลี่ยนไป มีหนอง ควรรีบไปพบ อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดูแลรักษาต่อไป” รองอธิบดี สบส. กล่าว