xs
xsm
sm
md
lg

คนใต้ใจเด็ด “คามิน คมนีย์” ลาออกราชการ เพื่อสร้างงานเขียน ได้รางวัลเพียบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด (2 ครั้ง), ชนะเลิศวรรณกรรมแว่นแก้ว, หนังสือดีเด่นประเภทบันเทิงคดีของ สพฐ. และหนึ่งในรายชื่อหนังสือเกียรติยศจากคณะกรรมการนานาชาติด้านหนังสือเด็กและเยาวชน (The International Board on Books for Young People: IBBY) ประจำปี 2557 กับวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “ลูกยางกลางห้วย”

ทั้งหมดนั้นเป็นตัวอย่างจำนวนหนึ่งของรางวัลที่ได้รับจากการเขียนหนังสือของเขาผู้นี้ “คามิน คมนีย์”...

ทั้งๆ ที่เล่าเรียนในระบบจนเจนจบการศึกษา มีใบปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอันเป็นศูนย์รวมบรรดาหัวกะทิแห่งอเมริกา ก่อนจะกลับมารับราชการในตำแหน่งนิติกร สังกัดกระทรวงมหาดไทย และเติบโตตามลำดับจนใกล้เคียงกับอธิการบดีในส่วนของหน้าห้อง แต่จู่ๆ เขาก็ละทิ้งสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าเป็นความมั่นคงของชีวิต มุ่งหน้าสู่สวนอักษร เป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว

ท่ามกลางภาวะที่แม้กระทั่งรุ่นใหญ่ในแวดวงนักเขียนยังบ่นกันระงม แล้วเหตุไฉน ผู้ที่ดูท่ามีอนาคตไกลในสายงาน กลับกระโจนเข้าใส่บรรณพิภพราวกับนักเดินทางกลางทะเลทรายที่พลันได้พบโอเอซิส!!

• ทำไมถึงอยากเป็นนักเขียน

ทั้งๆ ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม ปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา มีอาชีพการงานที่มั่นคง รับราชการกระทรวงมหาดไทย แล้วทำไมถึงอยากเป็นนักเขียน นี่คือคำถามที่เจอบ่อย คือเหตุผลที่เราอยากจะเป็นนักเขียน มันมาจากตอนเด็กๆ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบสุงสิง ไม่ชอบกิจกรรม พูดง่ายๆ เป็นเด็กเรียน หมกตัวอยู่ในห้องสมุด ก็ทำให้ได้อ่านหนังสือเยอะ จนถึงตอนเรียนชั้นมัธยมต้น ม.1 ม.2 ไปเจองานเรื่องสั้น งานวรรณกรรม พออ่านเราก็มีความรู้สึกว่าอารมณ์มันต่างจากตำราทั่วไป พออ่านแล้วทำให้เรารู้สึกหัวเราะได้ ยิ้มได้ เศร้าได้ และมันสามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้ เปลี่ยนชีวิตตัวเองได้ รู้สึกรักเพื่อนมนุษย์มากขึ้น เราก็รู้สึกดี

แล้วอีกอย่าง คนเขียนหนังสือน่าจะเป็นคนที่ชอบอยู่เงียบๆ แล้วเขียนอะไรที่มันดูเท่ๆ มีอิทธิพล แถมเวลาเรียนอาจารย์ให้เขียนเรียงความ เขียนกลอน เราก็จะทำคะแนนได้ดี ได้รางวัลบ้าง เป็นตัวแทนโรงเรียน ก็มีความสุข เราก็ชอบการเขียนหนังสือ พอชอบ ตอนนั้นก็คุยกับเพื่อนเรื่องความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียน เพื่อนที่เขาบวชเรียน มีความรู้ทางภาษาบาลีสันสกฤตก็เลยตั้งนามปากกาให้ว่า “คามิน คมนีย์” ก็ฟังแล้วเท่ แต่แรกๆ เราก็ไม่รู้ความหมาย ซึ่งความหมายของคำว่า คามิน มาจาก “คาม” หมายถึงถิ่นที่อยู่ ส่วนคมนีย์ (อ่านว่า คะ-มะ-นี) แปลได้ว่า “ที่ที่ควรจะไปถึง” รวมแล้วก็คือผู้ที่ควรจะไปถึงที่ที่ควรไปถึง เราฟัง แล้วเหมือนจะไปสู่ที่ชอบๆ อย่างไรชอบกล (ยิ้ม) แต่เพื่อนบอกว่าดี เป็นผู้ที่ไปถึงการประสบความสำเร็จ เพื่อนก็อวยพร แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียน เพิ่งจะมาเริ่มเขียนตอนอายุ 35

• การเขียนหนังสือ แม้กระทั่งคนใหญ่ๆ ในแวดวงต่างก็เปรียบเปรยทำนองว่า คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

ผมคิดอย่างนี้ครับ หนึ่ง เรื่องงานเขียนมันอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกับงานอาชีพก็ได้ คือเราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราไม่ได้ทำงานเขียนเป็นอาชีพ แต่ที่เราทำ เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตเรา เราทำในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชอบ เท่านั้นเอง เรามีคำตอบของเรา เราไม่ล้มเลิก เรารู้ว่าเรารักเราชอบ ส่วนเรื่องทำมาหากิน อาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกับตรงนี้ แต่ตอนนั้นที่เว้นช่วงไป ต้องเล่าย้อนไปถึงว่า เราเป็นเด็กเรียน และเราก็เรียนดี เวลาคุยกับเพื่อนๆ ว่าอนาคตเขาเรียนอะไร ส่วนใหญ่ก็ว่าอยากจะเรียนหมอ เพราะสมัยนั้น คนเก่งมีทางเลือกเดียว ยิ่งอยู่ต่างจังหวัด โรงเรียนใหญ่ประจำจังหวัด ครูบาอาจารย์ คนรอบข้าง ก็เหมือนแรงกดดัน อีกทั้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีนักเรียนที่สอบหมอติดคนสองคนเท่านั้น ด้วยความเป็นเด็กที่โลกยังแคบ อยู่แค่ในกะลา เราก็ทุ่มเททุกอย่าง ความฝันการเขียนหนังสือก็เลยยกไป

พอเรียนจบ เลือกสอบเอนทรานซ์ เรามาสอบแล้วมันไม่ได้ติดแพทย์สักที ติดแต่เภสัช ติดวิศวะ ไปเรียนได้เทอมหนึ่งก็ออก มันก็เกิดการกดดันทั้งกับตัวเองและคนรอบข้างก็กดดัน คือความจริงอาจจะเป็นความรู้สึกเราในตอนนั้น อาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้ แต่ด้วยความที่เป็นวัยรุ่น เรารู้สึกว่าคนอื่นเข้ามากดดัน เราทำไม่ได้เหมือนกับคนอื่น เขาจะไม่ยอมรับ เหมือนเราประสบความล้มเหลว สิ่งที่จะประสบความสำเร็จคือการเป็นหมอเท่านั้น ถ้าไม่ได้คือล้มเหลว ณ ตอนนั้นก็เลยไม่สามารถไปเรียนอะไรต่อได้ มันมีปมในใจ

• แล้วเราคลายเงื่อนชีวิตตอนนั้นอย่างไร

กลับมามองย้อน คือสุดท้ายมันหลุดจากปมหรือเป็นเพราะความย่อท้ออะไรสักอย่าง เรารู้สึกว่าเราเหนื่อยเต็มทน เราทบทวนตัวเอง จริงๆ พ่อแม่เราชาวบ้านนอกท่านก็ไม่ได้หวังว่าเราจะต้องเรียนแพทย์เลย เพราะเขาก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร ท่านก็หวังแค่อยากให้เราเลี้ยงตัวเองได้ เรียนจบมีใบปริญญาตรีเท่านั้น แค่นี้เขาก็มีความสุข เราก็เลยเปลี่ยน คิดได้ก็ตัดสินใจมาเรียนรามฯ แล้วก็เปลี่ยนสายไปเลย เปลี่ยนให้มันหลุดไปจากความคิดอะไรเดิมๆ ในหัวเรา คือมันน่าจะมีใครสักคนมาพูดให้เราในลักษณะเพื่อนที่คอยแนะนำอะไรดีๆ เพราะว่าคนที่เรียนเก่ง ไม่ได้แปลว่าจะเก่งทุกเรื่องเสมอไป มันก็มีบ้างเรื่องที่เราไม่รู้ เราคิดไม่ได้ นี่คือเราเอาความจริงมาพูด อย่างที่บอกว่าเก่งที่สุดสมัยนั้นก็ต้องมาเป็นหมอ มันมีไม่กี่ทางเลือก จะบอกว่าคุณเก่งที่สุดแล้วคุณอยากจะมาเป็นนักเขียน ทำอะไรที่อยากทำ ไม่มี มองไม่เห็นอนาคต

ก็เลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ แล้วก็ปฏิวัติความคิดว่าจะไม่เป็นเด็กเรียน เพราะเราเป็นมาทั้งชีวิต แต่เราก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น พ่อแม่ก็หวังอย่างที่บอก ใบปริญญาและเราเลี้ยงดูตัวเองได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลท่านได้บ้าง ไม่เข้าห้องเรียนเลยตอนนั้น อาศัยความรู้ที่มีและวินัย อย่างเข้าไปเรียน บางทีก็จะมีอาจารย์มาสอน บางทีก็เรียนจากโทรทัศน์ เราก็รู้ว่าช่วงใกล้ๆ สอบจะมีแนวข้อสอบขาย เรียกว่าคำบรรยายชั่วโมงสุดท้าย เราก็ไปหามาอ่านแล้วเก็งข้อสอบ เทอมแรก ภาษาอังกฤษที่ว่ายาก ตัวที่ 1-2-3 ได้เกรด G ตัวอื่นๆ ที่ลงก็เหมือนกันทั้งหมด รวมแล้ว 30 กว่าหน่วยกิต จาก 144 หน่วยกิต เราสามารถทำเกียรตินิยมได้เลย เราก็จะเอาควบด้วย ซึ่งหากเป็นแต่ก่อนเราจะมุ่งเอาเหรียญแต่ตอนนี้ลดลงเหลือแค่เกียรตินิยมพอ เพราะเราตั้งเป้าไว้ว่าเราจะไม่เรียนอย่างเดียว จะไม่เป็นเด็กเรียน ทีนี้พอวางตัวอย่างนั้น ก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ทำอะไรที่เป็นความหมายในชีวิต

• นั่นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้กลับมาเขียนหนังสือ

อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง มันเป็นการเปิดประสบการณ์ อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นช่วงเด็กเรามักจะหมกตัว เก็บตัวอ่านหนังสือ โลกเราก็เล็กและแคบ เราโดนบดบังจนเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เราชอบจริงๆ พอคิดได้ ความกบฏที่ซ่อนอยู่ลึกในตัว อย่างเรื่องเรียกร้องความเป็นธรรมสมัยเรียน คือมีรุ่นพี่คนหนึ่งถูกทำโทษด้วยการกล้อนผม ทั้งๆ ที่ผมเขาสั้นอยู่ เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เราก็เลยร่วมเดินขบวนประท้วงไปกับเขาด้วย แต่ทีนี้ภาพมันขัดแย้ง ด้วยความที่.. หนึ่ง เราเป็นเด็กเรียน สอง น้าชายที่เราไปอยู่ด้วย ท่านเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการที่โรงเรียน เราก็ไม่ควรจะทำอะไรที่มันนอกคอกจนทำให้ชื่อเสียงน้าและโรงเรียนเสีย

ส่วนอีกครั้งก็ช่วงใกล้ๆ สอบเอนทรานซ์ เรามีปัญหากับคุณครูสอนสังคม เนื่องจากวิชาสังคมมีคะแนนนิดเดียวในการสอบ เด็กๆ ก็จะไม่สนใจ ชั่วโมงสังคมจะเป็นช่วงที่เราเอาไปอ่านหนังสือชีวะ คณิตศาสตร์ ไม่เข้าห้อง ไปนัดติวข้างนอกกับเพื่อนบ้าง บังเอิญท่านนึกเขี้ยวเข้มงวด ใครจะผ่านวิชานี้ต้องจดในแต่ละคาบว่าเรียนรู้อะไรบ้าง ปลายเทอมเราก็ไม่มี เรื่องก็ถึงน้า เราจะไม่ผ่านเพราะไม่มีคะแนน ก็เลยไปเอาสมุดของเพื่อนที่เขาเข้าครบไปถ่ายเอกสารแล้วส่ง บอกว่าอาจารย์อยากได้ที่ผมได้เรียนรู้จากวิชาสังคม ก็ถ่ายเอกสารมาให้ ลงแรงอ่าน แล้วไปถ่ายมา

ก็นับว่าแรง ทุกวันนี้ก็เสียใจ แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายสำหรับเรา เรียกว่ามีความขบถอยู่ในหัว มาเรียนรามฯ ก็ได้ปลดปล่อย เราอยากทำอะไรที่เราคิดว่ามันใช่ เรามีความรู้สึกว่าสังคมไม่ยุติธรรม เรามีส่วนทำอะไรได้บ้างก็ทำไป ตอนนั้นก็มีเดินขบวนเวลามีปัญหาความอยุติธรรมไปหมด เขื่อนน้ำโจร พฤษภาทมิฬ แต่ไม่ได้แปลว่ามันดีหมด เพราะบางที พอเรามองย้อนกลับไป เราก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือก็มี แต่ก็ทำให้เราได้รู้อะไรหลายๆ อย่าง เป็นจุดเริ่มอีกครั้งที่ทำให้เกิดงานเขียนจุลสารหรือในสมัยนี้ก็คือหนังสือทำมือ ทำจากกระดาษไข ออกแบบเอง เนื้อหาต้องเป็นแบบไหน เป็นบรรณาธิการของหนังสือตัวเอง ทำเองทั้งหมด ชื่อ “เข็มทิศ” ครั้งหนึ่ง ชื่อ “ตะเกียง” ครั้งหนึ่ง ก็ไปสัมภาษณ์รุ่นพี่นักกิจกรรม แล้วบางทีมันก็เป็นโอกาสให้เราได้เขียนกลอน เขียนบทความเข้าไป ขายเล่มละ 2-3 บาทบ้าง แจกบ้าง แต่ก็ทำอยู่ประมาณปีสองปี แล้วก็ไม่ได้ทำต่อ

• แล้วการเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ ตอบโจทย์ความหมายของชีวิตหรือไม่

ตอบครับ...มันทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น คือตอนนั้นไปฝึกงานที่สำนักกฎหมาย เป็นที่ปรึกษากฎหมาย“ลอว์ เฟิร์ม” เราไม่ได้เป็นทนาย เพราะทนายต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ถึงไปว่าความในศาลได้ ทีนี้เรารับให้คำปรึกษากฎหมายกับชาวต่างชาติ เราก็ได้เห็นความแตกต่าง ถ้าเกิดเรามีความรู้ทางภาษา ฝรั่งเข้ามา เขาอยากจะจดทะเบียนตั้งห้างร้านบริษัท เรานั่ง เราต้องจับเวลา สักครึ่งชั่วโมงหลัง เราให้คำปรึกษาหลักการในการตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจในเมืองไทยมีอยู่กี่แบบ 1.ห้างหุ้นส่วน 2.บริษัท 3.ทำเอง ถ้าเขาสนใจ เราก็ทำเอกสารแล้วก็แปลให้เขาเซ็น เสร็จจดทะเบียนเพื่อให้มีผลทางกฎหมายขึ้นมา เราสามารถที่จะชาร์จเรียกเงินเขาได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้และความสามารถ เราก็มองว่านี่คืองานที่เราต้องทำ เราต้องหล่อเลี้ยงชีวิตเรา แต่เราไม่อินกับมันเลย ทำไปเพื่ออะไร ไม่เข้าใจเท่าไหร่

บังเอิญในระหว่างนั้น รุ่นพี่ที่ทำงานเขาก็บอกว่าเรามีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ ถ้าไปชุบตัวที่เมืองนอกสัก 3-4 ปี เรารุ่งแน่ พอได้ยิน ความคิดก็พุ่งเข้ามาเลยกับคำว่าชุบตัว จินตนาการว่าคงเหมือนสังข์ทอง เงาะถอดรูป (ยิ้ม) นึกเป็นภาพอย่างนั้นเลย ความคิดที่บอกว่ากดดัน จนเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองและแนวคิดก็ย้อนกลับมา วันนี้เราอาจจะสำเร็จ เรียนจบ ทำงานด้านกฎหมาย สำเร็จระดับหนึ่ง แต่ลึกๆ ก็รู้สึกว่าเหมือนคนเขายังไม่ยอมรับเราเต็มที่ การไปเรียนต่อปริญญาโทที่เมืองนอก น่าจะเป็นสิ่งที่ชดเชยความรู้สึกที่เราเสียไปในตอนแรก ความล้มเหลวไม่สามารถเรียนหมอได้ เพราะหัวกะทิเมืองนอกของเขาคือโรงเรียน Law School เราก็สอบชิงทุน ก.พ.

เป็นทุนที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่อยากนำความรู้มาพัฒนาประเทศ ตอนนั้นก็มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และการธนาคารแห่งประเทศไทย ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะสอบได้ เพราะเราเป็นเด็กรามฯ ไม่รู้จักใครเลย ขณะที่คนอื่นๆ จบจากจุฬาฯ บ้าง ธรรมศาสตร์บ้าง เขาเหมือนรู้จักอาจารย์คนนั้นคนนี้ แต่ผมก็คิดว่าแฟร์ดี เพราะสุดท้ายก็ไม่มีเรื่องเส้นสาย

แต่กว่าจะได้ไป อันนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อชีวิต ณ ตอนนี้ เริ่มแรกคือเราไม่รู้ สอบติดแล้วนึกว่าจะได้ไปเรียนต่อเลย ตรงกันข้าม เราต้องจัดการเองหมด ต้องไปสอบโทเฟล สอบเสร็จต้องส่งจดหมายไปถึงมหาวิทยาลัยที่เราประสงค์จะเข้าศึกษา ช่วงนั้นก็ทั้งสอบทั้งส่งไปหลายครั้ง เทอมแรกพลาด ส่งเทอมที่สอง กว่าจะได้ที่ Cornell University (มหาวิทยาลัยคอร์เนล) ตามที่เราชอบทิวทัศน์สวยงามของเขา และอยากจะรู้อย่างที่เราอ่านงานของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เราออกจากงานด้วยความไม่รู้ นึกว่าเขาจัดการให้หมด ก็เคว้ง เงินทองเริ่มหมด ต้องไปขอหยิบยืมจากที่บ้านและบ้านคนอื่น

และด้วยความที่เรามีความคิดขบถอยู่ในตัวเหมือนที่เล่าไป เราก็ไปร่วมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 กินนอนอยู่เป็นเดือนๆ กระโดดเดินเหยงๆ อยู่ด้านหน้า เพราะเรามีความเชื่อผิดๆ ตลอดว่า ทุกๆ อย่างมันทันสมัย เราอยู่ในยุคของประชาธิปไตย จู่ๆ มีการปฏิวัติ ก็ไม่เชื่อว่าจะเกิดความรุนแรง เหมือนปี 2516 และ 2519 ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นอีกต่อไป เนื่องจากเป็นบทเรียนที่เราควรเรียนรู้แล้ว ปรากฏว่าเกือบไม่มีชีวิต วันที่เกิดเหตุ เขาก็ตะโกนว่ายิงแล้ว คนนั้นฟุบแล้ว ตายแล้ว เราก็ตกใจ โดดกำแพงอีกฝั่ง ยังไม่แน่ใจว่าหลอกหรือว่าตื่นตระหนกกันไปเอง ก็พยายามปีนออกมา จะไปต่อ ปรากฏว่าไปจ๊ะกับทหาร เขาบอกว่าอยากตายอีกคนหรือไง เราก็รู้สึกช็อกไปเลย หลังจากนั้นก็ไม่รู้เรื่อง วิ่งพล่านไปหาเพื่อนบ้าง หลบกระสุนบ้าง นาทีนั้น ในความรู้สึก เสียงกระสุนกับประทัดมันไม่ได้แตกต่างเลย จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมันมาโดนหัวแล้วตาย นั่นคือของจริง

ก็ทำให้ตระหนักคิดได้ ชีวิตมันมีอะไรมีความหมาย คิดได้ว่าสงสารพ่อแม่ เขามีความหวังอยู่ที่เรา เพิ่งจะได้สมหวัง เราจะมาทิ้งชีวิตไปอย่างนี้หรือ และเรากำลังจะไปเมืองนอกแท้ๆ เป็นความคิดที่สับสนมาก สุดท้ายหนีไปหัวหิน อยู่กับเพื่อนแล้วก็กลับมา ทีนี้ อะไรต่อมิอะไรก็เย็นลง ไปเรียนเมืองนอก เราก็ได้ทำในสิ่งที่ชอบที่ตั้งใจอย่างที่กล่าวไปว่าไปเรียนที่นั่น นอกจากชื่อชั้น เรื่องของความสวยงามที่ขึ้นชื่อ เราก็ได้เที่ยวได้ผจญภัย วิ่ง ปั่นจักรยาน เดินสำรวจ เรารู้สึกว่าเรามีความสุขมาก ก็ทำให้เรารู้ว่าความสุขของชีวิตคือการทำสิ่งที่ชอบ

• เหมือนความหมายของนามปากกา “คามิน คมนีย์” ซึ่งเราเพิ่งจะทำได้ตามนิยาม

ส่วนหนึ่งก็ใช่ เรามีความสุขเพราะเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ เรารัก นั่นคือความรู้สึกที่ได้ แต่ทีนี้ หลังจากเรียนจบ เรายังไม่ได้เขียนหนังสือ เพราะเราต้องกลับมาทำงานใช้ทุนเรียนก่อน และอีกปัจจัยหนึ่งคือเราก็อยากจะพิสูจน์สิ่งที่ร่ำเรียนมา ก็ทำงานที่กระทรวงมหาดไทย หน้าที่ตำแหน่งนิติกร เป็นเจ้าหน้าที่กฎหมายของกระทรวงหมาดไทย แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่ คือแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ยิ่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องพูดถึง เราก็ดิ้นรนหาหนทางของตัวเอง ก็ทำอย่างเดิม มีอะไรที่แปลภาษาตัวบทกฎหมาย ก็แปล ทำจดหมายข่าวเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้เพื่อนร่วมกระทรวงบ้าง ส่งไปสำนักงานจังหวัดบ้าง คล้ายๆ ตอนเรียนรามฯ ที่ทำจุลสาร แล้วก็เป็นคนแรกๆ ที่ร่วมทำเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้

ทำได้สี่ปีก็ย้ายไปเป็นเจ้าหน้าที่หน้าห้องอธิการบดี ซึ่งมีอิทธิพลมาก และการทำงานของหน้าห้องไม่ได้มีคนเดียว มีหลายคน คนหนึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องส่วนตัว คนหนึ่งจัดการรับหมายตารางนัดรับโทรศัพท์ คนหนึ่งเบื้องหลัง เราทำในส่วนของการกรองงาน ทำตรงนี้ก็ได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมาย เช่น การทำงานที่ก้าวหน้าต้องทำอย่างไร ต้องทำงานให้เป็น เราทำงานอยู่ก่อนปลายปีก็จะได้ของขวัญ ปีใหม่ก็เลื่อนขั้น เงินเดือนจากตอนแรก 8,000 บาท ย้ายมาไม่กี่ปีก็หลักหมื่นสองหมื่น โดยที่เราคิดว่าเรายังไม่ได้ทำประโยชน์อะไรมากมายเลย

พอคิดอย่างนั้น เราก็ออก คือคนอื่นอาจจะมองว่าดี แต่เราแอบขบถมาแต่แรก สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในหัวเรา แล้วมันไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่น เราบอกตัวเองว่าเราต้องเป็นคนดีมาก แล้วเราก็เชื่อมั่นว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไรก็แล้วแต่ ต้องเป็นคนดี เราอยากจะทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง ดังนั้น พออยู่แล้ว เราได้ประสบการณ์ ได้ทำอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ไม่บรรลุผลที่ตั้งใจ เราก็ออก การออกครั้งนี้ไปอยู่ที่กรมการเลือกตั้ง แล้วเราก็คิดย้อนมาได้ว่าเราแอบฝันว่าอยากเป็นนักเขียน ก็ตัดสินใจไม่รับราชการต่อ ผันตัวเองมาเป็นนักเขียน ลองเขียน

• ทั้งๆ ที่ชีวิตกำลังมั่นคงและรุ่งเรื่องในตำแหน่งหน้าที่การงาน

คือเราชั่งใจ ถ้าเราจะประสบความสำเร็จจริงๆ จะต้องได้เป็นอะไรยังไง สมมติเราประสบความสำเร็จ อาจจะเงินเดือนขนาดนี้ เราพอใจไหม หรือถ้าเราประสบความสำเร็จมากจริงๆ เรามีตำแหน่งขนาดนี้ เรามีความสุขไหม คำตอบคือไม่ทั้งสองอย่าง เมื่อรวมกับที่บอกไป ก็เกิดคำถามกับตัวเองว่าเราจะมีความสุขอย่างไร การเขียนหนังสือจึงผุดออกมาอีกครั้ง ความสุขตอนนั้นที่คิด คือน่าจะได้เขียนหนังสือสักเล่ม สองเล่ม (ยิ้ม) น่าจะมีความสุข ก็ทุบหม้อข้าวหม้อแกงตัวเองเลย เพราะเรามาเขียนหนังสือ เราไม่สามารถที่จะทำงานไปด้วยเขียนไปด้วยได้ อย่างที่หลายๆ คนแนะนำ เราต้องการเวลาให้ตัวเองมากๆ ให้มันรู้ไปว่าจะเขียนไม่ได้เลย คือเป็นความรู้สึกตอนเริ่มจะเขียน เราวัตถุดิบเยอะ แต่ก็เขียนไม่ได้ เลยทำอย่างนั้น

แต่พอจะมาเขียนจริงๆ กลับเขียนไม่ได้ ก็ใช้ระยะเวลาอยู่เป็นปี ผลงานเรื่องแรก “เย็นวันเสาร์ เช้าวันอาทิตย์” เกิดจากการจับพลัดจับผลูระหว่างที่คิดว่าจะเขียนอย่างไร ก็เกิดความรู้สึกสนุก ออกไปวิ่งแข่งมาราธอน เพิ่งวิ่งเป็นครั้งแรกแล้วมันได้ ก็ติดใจ วิ่งๆๆ อย่างเดียวจนลืมเรื่องงานเขียนที่ตั้งใจไว้ เพราะเราต้องซ้อม เช้าวิ่ง 15-20 กิโลเมตร เที่ยงกินข้าว เหนื่อยก็ต้องพักนอน ผลสุดท้าย ไปเช็กเงินในบัญชี มันจะหมดแล้ว (หัวเราะ) ก็บังเกิดสติ

อันนี้เป็นอีกแง่ประสบการณ์ที่นำไปสู่คำตอบของคำถาม การรู้ตัวเอง คำตอบของเราที่เขียนหนังสือ แม้ว่าค่าตอบแทนจะน้อย อยู่ยากจริง แต่ว่ามันไม่ใช่โจทย์เดียวกัน ง่ายๆ เราเขียนไป แต่เราไม่คิดว่าเขียนหนังสืออย่างเดียวจะทำให้อยู่รอดปลอดภัยในชีวิตได้ ฉะนั้น ก็จะทำอย่างอื่นด้วย รับจ๊อบทำโน่นนี่ แปลเอกสาร ทำโครงการให้กับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ในตอนนี้ มันไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูป นักเขียนคนอื่นหรือคนที่อยากเป็นนักเขียนก็ต้องหาคำตอบของตัวเอง แต่ถ้าเป็นนักเขียนแล้วรายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากงานเขียนก็จะดีมากๆ คุณก็ไม่ต้องเครียดกับอย่างอื่น แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องมีความสอดคล้องกับยุคสมัย

ย้อนไปช่วงนั้น พอจวนตัว ก็กลับมาตั้งใจในการเขียน แต่ก็ยังไม่ออก เพื่อนก็แนะนำให้เขียนเรื่องที่เรารู้ดีที่สุด ณ ชั่วโมงนั้นก็มีแต่เรื่องวิ่ง ตอนแรกก็กะจะเขียนการวิ่งแล้วโยงไปอะไรที่มันลึกซึ้งกว่าที่เห็น ว่าการจะวิ่งมันทำให้เราได้เรียนรู้ปรัชญาชีวิตอะไรยังไงบ้าง แต่ดูแล้วรอดยาก เลยพยายามสื่ออะไรง่ายๆ เราไปวิ่งในแต่ละครั้ง เราได้เรียนรู้อะไรกลับมา เราเล่าอะไรให้เพื่อนฟัง ซึ่งทางนายอินทร์อะวอร์ดจัดประกวดพอดี เราก็ส่ง ก็ลืมไปเลย เพราะความรู้สึกส่วนตัวคิดว่าฝันมาตั้งนาน ผ่านอะไรมาตั้งเยอะ เราทำได้แค่นี้หรือ แต่สรุป เราได้รางวัล พี่ตุ๊ (จตุพล บุญพรัด) ซึ่งเป็นบรรณาธิการของนิตยสารแอล เครืออมรินทร์ จัดประกวด เขาก็โทร.มาบอกว่าได้รับรางวัลยอดเยี่ยม

ดีใจเกือบช็อกเลย จตุพล บุญพรัด โทร.มาเอง ชมเอง เคยอ่านหนังสือแก มีตำแหน่งแห่งหน เป็นทั้งนักเขียนและบรรณาธิการ เราก็เลยผันตัวเองเป็นนักเขียนอย่างจริงจัง ก็มีเรื่อง “ใต้ฟ้าฟากกระโน้น” เป็นเรื่องที่ไปเรียนที่เมืองนอก ก็เป็นแนวเด็กและเยาวชน ได้รางวัลของแว่นแก้ว ปี 2554 แล้วก็เรื่อง “ช่วยกันเตะ...อย่าให้ตาย” เป็นประสบการณ์การเล่นตะกร้อ หลังจากตอนวิ่งแล้วเจ็บ ก็เลยไปเปลี่ยนประเภทกีฬา แล้วก็บ้ามันไปอีกปีหนึ่ง ได้รางวัลชนะเลิศ mBook Contest (ปี 2547)

แล้วก็มีอีกหลายๆ เล่ม “ลอยนวล”, “ไปเป็นเจ้าชายในแคว้นศัตรู”, “ตามหาโจตัน”, “ตะลอนพม่าประสาเจ้าชาย” ฯลฯ ทั้งหมดตอนนี้กว่ายี่สิบเล่ม ล่าสุดกับเรื่อง “ลูกนกจากคอน” ผลงานภาคต่อจาก “ลูกยางกลางห้วย” ที่ได้รางวัลหนังสือดีเด่นประเภทบันเทิงคดี ปี 2556 จาก สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ปี 2556 และจากคณะกรรมการนานาชาติด้านหนังสือเด็กและเยาวชน (The International Board on Books for Young People: IBBY) ปี 2557 ก็เป็นเรื่องราวเล่าชีวิตในวัยเด็ก ส่วนหนึ่งเราคิดถึงบ้านสมัยนั้น แต่ในความเป็นจริงยุคสมัยมันก็เปลี่ยนแปลงไปหมด ทีนี้เรายังโหยหาอยู่ ขณะเดียวกัน เราก็คิดว่ามันน่าจะมีเรื่องเล่า คือเราสามารถที่จะเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ เพื่อว่าคนรุ่นใหม่ๆ เขาก็จะสามารถรับรู้ได้ ก็เลยเอาเรื่องของตัวเองเอามาทำเป็นนวนิยาย ก็ได้รับคำชม เป็นที่พูดถึงไม่เพียงแต่เด็กเยาวชน คนรุ่นๆ เราก็ชอบที่จะหวนรำลึก เลยเป็นหนังสือที่พ่อแม่ลูกอ่านด้วยกันได้ คนต่างจังหวัด ชนบท อ่านแล้วก็เข้าถึง

• กล่าวคือ ทุกๆ อย่างเป็นประสบการณ์บ่มเพาะ

แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าถามว่างานเขียนของเราอ่านแล้วจะได้อะไร จริงๆ ความหมายมันก็มาจากนามปากกาอยู่แล้ว อย่างเขียนเรื่องวิ่ง เรื่องตะกร้อ เรื่องชินลง (“ชินลง” หรือ “ชินโลน” เป็นศิลปะแบบดั้งเดิมหรือกีฬาโบราณ ที่มีมานานกว่า 1,500 ปี ของประเทศพม่า เป็นการผสมผสานกันระหว่างกีฬากับการเต้นรำ) ไม่ใช่ว่าเราไปทำสิ่งนั้นๆ เพื่อจะเอามาเขียน แต่ว่าเรารักสิ่งนั้นอยู่ก่อน ทำโดยที่เราไม่คิดถึงเรื่องเขียนแม้แต่บรรทัดเดียว เพราะว่าวิ่งก็วิ่งจนได้ถ้วย ล่าสุดติด 1 ใน 50 คนแรก เราอินกับมันจริงๆ ตะกร้อ ก็เพราะชอบ เล่นชินลง ก็คนแรกๆ ในประเทศไทยที่ไปเล่นในเทศกาลของต้นกำเนิดประเทศพม่า คือเราอินกับมัน มันเป็นชีวิตเราจริงๆ มันจะแตกต่างจากใครจะเขียนเรื่องไหนแล้วไปท่องเที่ยว ไปทำโน่นนี่แล้วเอามาเขียน

แต่เราหาที่ชอบแล้วพาเราไปหาที่ชอบ เรามีความสุขในสิ่งนี้ อินในสิ่งนี้อย่างเต็มที่ มันเหมือนกับน้ำตก ที่พอตกมาเต็มแอ่งแล้วมันไม่มีทางเลือก มันก็ล้นออกมา หรือเมฆฝนที่อุ้มน้ำเยอะๆ แล้วตก เพียงแต่ของเราล้นออกมาในเรื่องเขียน เรื่องเล่า มันเป็นความสุขที่ล้นออกมา จากชีวิตน้อยๆ ที่ไม่หนุ่มและก็ไม่แก่เกิน ก็คิดว่าอาจจะเป็นเหมือนกับการที่เราใช้ชีวิตไปสาธิตให้กับคนอื่นเห็น ถ้าคนคิดจะทำอะไร ชอบทำอะไร ก็อย่าลังเล ลงมือทำ แล้วคุณก็จะได้ในสิ่งนั้น

• ไม่เฉพาะสำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน แต่รวมไปถึงคนที่ตามหาสิ่งที่รักและชอบเช่นตัวเอง

ก็อยู่ที่เราจะไปปรับใช้ตามสิ่งที่ชอบ พอเจอสิ่งที่ใช่ มีโจทย์ที่ตั้ง เราก็ทำขึ้นมาได้ อย่างที่หลายๆ คนสงสัยว่าเรามีทำหน้าที่การงานดีๆ แล้วมาเขียนหนังสือทำไม ทั้งหมดคือคำตอบ จะไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราทำด้วยกันทั้งหมดอย่างนี้ (ยิ้ม) และเราจะรู้ความหมายของมัน ซึ่งการทำอะไรที่ชอบ เช่น พอเราชอบเขียนหนังสือ หนังสือสำหรับเราก็เป็นเรื่องเล่า คือในความหมายที่ง่ายสุด แต่สิ่งที่ง่ายๆ อย่างเรื่องเล่า มันก็คือชีวิต คนเราจริงๆ ก็คือเรื่องเล่าที่เราเล่าให้ตัวเองฟัง ถ้าเราเปลี่ยนเรื่องเล่า ชีวิตมันก็จะเปลี่ยนไปในอีกมุม

ดังนั้น ชีวิตของคนคือเรื่องเล่า ที่เราเล่าให้กับตัวเองฟัง แต่บางที เราอาจจะไม่แน่ใจในตัวเอง เพราะเราฟังเรื่องเราจากคนอื่นที่เกี่ยวกับเราเอง เราฟังความเห็นของคนอื่นว่าเราเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี เราไปฟังเรื่องคนอื่นที่เกี่ยวกับเรื่องเรา แต่จริงๆ ถ้าเราสามารถที่จะเล่าเรื่องของตัวเองให้ตัวเองฟังได้อย่างมั่นใจ มั่นคง อันนั้นคือชีวิตเรา ทีนี้ถ้าชีวิตที่ดี เราก็อาจที่จะเอามาแลกเปลี่ยนคนอื่นได้ ทุกๆ อย่างมันมีความสุข

ความสุขเหมือนน้ำที่ล้นหลั่งออกมา เราสามารถที่จะเอาเรื่องเล่าของเราไปถ่ายทอด แบ่งปัน อันนั้นคือความหมายของการเขียน ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์เรา เราก็เลยเลือกที่จะเขียน คุณก็ต้องหาความหมายตัวเอง






เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร

กำลังโหลดความคิดเห็น