เด็กไทยดื่มเหล้าร้อยละ 19.4 ดื่มเพิ่มขึ้น 1.7% ต่อปี รมว.สธ. ชี้ เดินหน้ารณรงค์ช่วยลดอัตราการดื่มลงได้ ยึดพระบรมราโชวาทไม่ตกเป็นทาสอบายมุข ด้าน รมช.ศธ. แนะปลูกฝังระเบียบวินัย ทัศนคติที่ดี ไม่ยุ่งเกี่ยวอบายมุขตั้งแต่ 0 - 5 ขวบ ช่วยลดปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงได้ทุกเรื่อง
วันนี้ (24 พ.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กทม. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดกาปรระชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 9 หัวข้อ “สานพลังพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน ให้พ้นภัยจากสุรา” จัดโดยศูนย์ปัญหาวิจัยสุรา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสรางเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็สามารถช่วยลดการบริโภคได้ส่วนหนึ่ง แต่ที่น่าห่วงคือ เด็กและเยาวชนมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น เป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันแก้ไข โดยสิ่งที่ สธ. สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการมาตลอด ถือว่าถูกต้องแล้ว ทั้งการควบคุมเรื่องของการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การมีมาตรการทั้งในส่วนของครอบครัวและตัวเด็ก เป็นต้น
“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังถือเป็นอบายมุขที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยมีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2496 ว่า “ในการดำรงตนในภายหน้านั้น ท่านจะต้องประพฤติให้ดีให้เหมาะสมแก่ฐานะ รู้จักผิดและชอบ ประกอบอาชีพโดยสัมมาอาชีวะ ไม่เสเพล และไม่ปล่อยตนให้เป็นทาสแห่งอบายมุขต่างๆ ดังนี้แล้วท่านก็จะสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองและครอบครัวของท่าน และจะเป็นที่นับถือของบุคคลอื่น” ซึ่งจะเห็นได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย เช่น อุบัติเหตุจราจร ส่วนหนึ่งที่ไม่น้อยเกิดจากเมาแล้วขับ เมาแล้วเกิดเหตุทะเลาะวิวาท การสร้างสังคมให้ปลอดภัยตรงนี้ต้องช่วยกันป้องกัน โดยเฉพาะภาคส่วนที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย นอกจากนี้ ยังต้องเร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจให้แก่คนในสังคมในเรื่องผลกระทบจากปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตรงนี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน หากทำได้ประสบความสำเร็จจะช่วยลดอัตราดื่มสุราในประเทศไทยลงได้” รมว.สธ. กล่าว
นพ.ธีระเกียรติ เจริญศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาต่างๆ ในเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงปฐมวัย คือ อายุ 0 - 5 ปี เพราะทัศนคติต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี ต้องเริ่มต้นปลูกฝังตั้งแต่ช่วงวัยนี้ การไปปลูกฝังหรือแก้ไขเมื่อตอนเด็กโตถือว่าสายเกินไป แม้บางส่วนสามารถแก้ไขได้แต่ก็เป็นเรื่องยาก ยกตัวอย่าง เรื่องอุบัติเหตุ เราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ว่าจะออกกฎเรื่องยึดรถ หรืออะไรก็ตามก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะจุดเริ่มต้นคือ การเคารพกฎเกณฑ์ ซึ่งตรงนี้ต้องสอนตั้งแต่เด็ก เรียกว่า ต้องสอนให้เด็กมีนิสัยที่ดีตั้งแต่เด็ก รู้จักฟัง มีระเบียบวินัย สนใจสิ่งแวดล้อม บังคับควบคุมตัวเองได้ ไม่ให้เขาต้องสัมผัสกับอบายมุข โดยเฉพาะพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี จึงจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ รวมทั้งเรื่องการดื่มเหล้าของเยาวชนด้วย สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ต้องเอาจริงเอาจังในการเลี้ยงดูลูกคือ ต้องให้ทั้งความรักและต้องเอาจริงเรื่องกฎระเบียบ ซึ่งการดูแลเด็กปฐมวัยจะสำเร็จได้ต้องร่วมมือกันใน 4 กระทรวง คือ สธ. ศธ. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
“ขณะนี้ ศธ. อยู่ระหว่างการเชื่อมระบบระหว่างโรงเรียน กับหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลเด็กปฐมวัยก่อนส่งเข้าโรงเรียน ทั้งโรงพยาบาล สถานเลี้ยงดูเด็ก เพื่อบูรณาการทำงานและการดูแลเด็กให้มีความต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าเด็กและเยาวชนประสบปัญหาต่างๆ ทั้งการเรียน ฯลฯ มหาวิทยาลัยก็โทษว่ามัธยมส่งมาไม่ดี มัธยมโทษประถม ประถมโทษอนุบาล ดังนั้น จึงต้องมาร่วมกันสร้างเด็กตั้งช่วงปฐมวัยร่วมกันทั้ง 4 กระทรวง” รมช.ศธ. กล่าว
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเหล้าถึง 18 ล้านคน โดยร้อยละ 40 เป็นการดื่มเป็นประจำ โดยในส่วนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นพบว่า เพศชาย มีการดื่มเหล้าร้อยละ 19.3 เพศหญิงดื่มเหล้าร้อยละ 16.2 ซึ่งแนวโน้มการดื่มในเยาวชนจะเพิ่มขึ้นและอายุน้อยลง โดยพบว่าการดื่มในเยาวชนอายุ 15 - 19 ปี เมื่อปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 12.92 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จนปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 19.4 หรือเฉลี่ยเยาวชนอายุ 15 - 19 ปีดื่มเหล้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ต่อปี