ชวนชาวเน็ตร่วมตั้งปณิธานเดินตามรอยพ่อ พร้อมแชร์ ๙ คำสอนตั้งเป็นคำสัญญาดำเนินชีวิต
จากความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทย อันนำมาซึ่งความโศกเศร้าไปทั่วสารทิศ แต่ในขณะเดียวกันคนไทยทุกภาคส่วนก็ต่างเชิญชวนให้ร่วมกันแสดงความอาลัยในหลากหลายกิจกรรม เรื่องหนึ่งที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเอง ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ก็คือ การสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และดำเนินตามรอยพระยุคลบาท พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้กลายเป็นคำสอนที่หลายคนใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต หรือเรียกกันอย่างติดปากว่า “คำสอนของพ่อ”
ล่าสุด ผู้คนในโลกออนไลน์กำลังให้ความสนใจกับการตั้งปณิธานความดีตาม “๙ คำสอนพ่อ” ที่เผยแพร่ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก TeapotHappySociety (https://m.facebook.com/TeapotHappySociety/posts/588537584666509:0) และ MagnoliaKidsClub (https://www.facebook.com/MagnoliaKidsClub/posts/1184429004981515:0) ซึ่งความน่าสนใจของเพจดังกล่าว นอกจากผู้ใช้เฟซบุ๊กจะได้อ่านและร่วมรำลึกถึงคำสอนของพ่อแล้ว ยังสามารถเลือกเผยแพร่ผ่านการแชร์ ตั้งเป็นรูปปก หรือรูปประจำตัว ทั้ง ๙ คำสอนบนไทม์ไลน์ส่วนตัว เพื่อให้เพื่อนหรือผู้ที่ติดตามได้ศึกษาและยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิตนับจากนี้อีกด้วย
สำหรับ ๙ คำสอนจากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ถูกนำมาเผยแพร่และให้ชาวเน็ตได้ร่วมตั้งเป็นปณิธานทำตามคำพ่อ ได้แก่ เรื่องของ “ความพอดี” ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบฯ ซึ่งเป็นพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี ๒๕๔๐, “ความซื่อสัตย์สุจริต” เป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง พระบรมราโชวาทที่พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็กเมื่อปี ๒๕๓๑, “ความเพียร” การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุด คือ ความอดทนฯ คำสอนนี้เป็นพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครูและอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖ นอกจากนี้ยังมีคำสอน “อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ” พระบรมราโชวาทเมื่อปี ๒๔๙๖ “หนังสือเป็นออมสิน” คำสอนที่บอกถึงความสำคัญของหนังสือที่เป็นความรู้และทุกสิ่งทุกอย่าง “พูดจริง ทำจริง” คำสอนที่ให้ทุกคนหนักแน่นในสัจจะ “เป็นผู้รับและผู้ให้” ปณิธานความดีด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่เพื่อผู้อื่น “ความรู้ตน” พระบรมราโชวาทเมื่อปี ๒๕๒๑ และคำสอนเรื่อง “การเอาชนะใจตน” เพื่อข่มใจในการกระทำสิ่งไม่ดี และยึดความดีเป็นความถูกต้อง