โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนที่รีบเร่งแข่งขันกับเวลาเพื่อความอยู่รอดในสังคม โลกที่มีระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ และการส่งข่าวสารมีความรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่การพัฒนาทางด้านจิตใจของคนกลับลดน้อยถอยลงมาก เห็นได้จากข่าวสารบ้านเมืองที่ออกข่าวไปเร็วๆ นี้ ยกตัวอย่าง เช่น
ภาพข่าวคนตกน้ำที่ท่าเรือนานาชาติ ทุกคนต่างเฝ้าดูและถามกันว่า ทำไมไม่โผล่ขึ้นมาสักที คนเริ่มมามุงดูเพิ่มมากขึ้น ทั้งคนที่มีห่วงยาง คนที่ว่ายน้ำได้ และว่ายน้ำไม่ได้ แต่ไม่มีสักคนที่คิดเสียสละที่จะกระโดดลงไปช่วยคนที่ตกน้ำ หรือโยนห่วงยาง สุดท้ายคนที่ตกน้ำก็เสียชีวิต ห่างจากท่าเพียง 50 - 100 เมตรเท่านั้น
ภาพแม่ค้าพ่อค้า ขายของเต็มทางเท้า จนคนเดินถนนต้องกลับมาเดินทางเท้าบนถนนแทน
ภาพรถมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งสวนทางมาอีกด้านของถนนในกรณีรถติด เพื่อส่งผู้โดยสารด้วยความรวดเร็ว และจะได้รับผู้โดยสารท่านอื่นต่อไป ทำให้รถที่สวนทางมาต้องเบรกและชะลอความเร็วเพื่อคอยระวังรถที่สวนทางมา
ภาพรถเมล์ที่ตัด 2 เลน เพื่อส่งผู้โดยสารที่ป้ายทำให้การจราจรที่แสนจะติดอยู่แล้วยิ่งติดมากขึ้นไปอีก
ภาพรถเก๋งเปิดไฟกะพริบ จอดรถซื้อของข้างทาง โดยมีรถคันอื่นตามติดเป็นกระบวน
การทิ้งเศษขยะตามพื้นถนนในทุกๆ ที่ หรือแม้กระทั่งภาพคนแซงคิวต่อแถวซื้อสินค้าที่ตนต้องการ
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พวกเราต้องกลับมาคิดทบทวนอีกครั้งว่าสังคมไทย ที่เรียกว่าสยามเมืองยิ้มนั้น ความมีน้ำใจเอื้ออาทรที่เรามีต่อกันนั้นหายไปไหนจากสังคมไทย ทำไมคนไทยถึงเห็นแก่ตัว ไม่มีจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี ไม่ว่าอะไรก็ต้องฉันก่อนเสมอ ทำไม่ถึงเป็นเช่นนี้? และเรากำลังสร้างในคนไทยและเด็กไทยเป็นฆาตกรโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือไม่?
วิธีการแก้ไข ต้องเริ่มจากครอบครัว และขยายไปสู่ในวงกว้างสู่โรงเรียน สังคมและประเทศต่อไป ผู้เขียนขอเขียนขอเสนอแนะไว้พอสังเขปดังนี้
1. อย่าเลี้ยงลูกเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงในบ้าน เพราะเรากำลังสร้างลูกให้มีนิสัยเห็นแก่ตัว เด็กที่เห็นแก่ตัวมักจะไม่พอใจกับทุกสิ่งที่อยู่รอบข้าง ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามสิ่งที่ตัวเองกำหนดเท่านั้น อะไรๆ ก็ต้องตัวเองมาก่อนส่วนความต้องการและความรู้สึกของคนอื่นไม่สนใจ เพราะเชื่อว่าความรู้สึกของตัวเองสำคัญกว่าความรู้สึก และความต้องการของคนอื่น แท้จริงแล้วเด็กๆ ควรได้รับการเลี้ยงดูที่ทั้งได้รับและเรียนรู้ที่จะส่งต่อความรักและความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันกับผู้คนรอบตัว แต่ว่าพ่อแม่ละเลยและไม่เห็นความสำคัญต่อสิ่งสำคัญเหล่านี้ จึงทำให้เด็กกลายเป็นคนมีนิสัยเห็นแก่ตัว ไม่เห็นใจผู้อื่นและขาดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ขั้นที่ 1 ลงไปถึงรากของปัญหา ลองมาพิจารณาตนเองว่าเราทำอย่างนี้หรือไม่
1.1 เราตามใจลูกมากเกินไป
1.2 เราไม่ได้จัดขอบเขตหรือมีกฎภายในบ้านในการลงวินัย
1.3 เราหรือสมาชิกในบ้านแสดงตัวอย่างของความเห็นแก่ตัว
1.4 เด็กรู้สึกโดยละทิ้งปล่อยปละละเลย
1.5 เด็กมีความรู้สึกอิจฉาเพื่อนหรือพี่น้อง
1.6 เด็กรู้สึกว่าเป็นคุณหนูมีความสะดวกสบาย โอ่อ่า
1.7 เด็กไม่เคยได้รับการสอนถึงคุณค่าของการให้หรือเสียสละ
1.8 เด็กมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ไม่ดีพอ และไม่สามารถแยกความรู้สึก และเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้
1.9 เด็กมีปัญหาในเรื่องของความโกรธ มีอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว ทำให้เป็นการยากที่จะคิดถึงคนอื่น
ขั้นที่ 2 ทำความเข้าใจที่ชัดเจนถึงความเห็นแก่ตัว สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและเปลี่ยนทัศนคติค่านิยมให้แก่ลูก ไม่ง่ายนักที่จะทำในข้อนี้โดยเฉพาะเด็กที่ชินกับความเห็นแก่ตัวมาโดยตลอด คุณพ่อคุณแม่ต้องสม่ำเสมอและยึดหลักให้มั่น บอกลูกว่า บ้านเราจะไม่เห็นแก่ตัวกัน เราจะเห็นอกเห็นใจคนอื่น หากลูกยังมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัวอยู่ให้เราเน้นและย้ำถึงทัศนคติที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างโดยการสอนว่า อย่าเห็นแก่ตัว แต่เราต้องปฏิบัติต่อเพื่อนเหมือนที่ต้องการให้เพื่อนปฏิบัติต่อเรา
ขั้นที่ 3 เสริมสร้างการเห็นอกเห็นใจและลดความเห็นแก่ตัวลง
เด็กที่มีความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะเข้าใจว่าคนอื่นมีความรู้สึกอย่างไร รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อลูกรู้ว่าหัวอกคนอื่นคิดอย่างไร จะทำให้ลูกมีใจกว้างขึ้น ไม่เห็นแก่ตัว ให้เราส่งเสริมการให้และมองคนลึกลงไป
ชี้ให้ลูกเห็นอารมณ์ของคนอื่น ให้ลูกสังเกตเห็นใบหน้า ท่าทาง พฤติกรรมของคนอื่นว่ามีความรู้สึกอย่างไร เช่น วันนี้ แม่เห็นหน้าของน้องแพง ดูท่าทางไม่ค่อยสบายใจ ลูกคิดว่าจะช่วยน้องแพงอย่างไรได้บ้าง หรือลูกคิดว่ามีอะไรที่ทำให้น้องแพงไม่สบายใจ
ให้ลูกจินตนาการถึงความรู้สึกของคนอื่น ให้ลูกคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นในสถานการณ์พิเศษ เช่น ลูกรู้ไหมว่าคนที่เข้ามาในโรงเรียนใหม่ในวันแรก รู้สึกอย่างไร เพราะเขาไม่รู้จักใครเลย เราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเป็นเขา ถามว่าเรารู้สึกอย่างไรและคนอื่นรู้สึกอย่างไร ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจความรู้สึกของคนอื่นและความต้องการของคนอื่น
แม่ : วันนี้คุณพ่อทำงานมาหนักทั้งวัน ลูกคิดว่าคุณพ่อรู้สึกอย่างไร
ลูก : คงจะเหนื่อย
พ่อ แม่ : แล้วลูกคิดว่าเราจะทำอย่างไรดีเมื่อคุณพ่อกลับมา เพื่อให้คุณพ่อมีความรู้สึกที่ดีขึ้น
ลูก : ไม่เปิดทีวีดังเกินไป คุณพ่อจะได้พัก
แม่ : เป็นความคิดที่ดีเลยลูก เดี๋ยวลูกบอกคุณพ่อนะว่าเราคิดอย่างไร
ขั้นที่ 4 จัดขอบเขต เหตุผลหนึ่งที่เด็กเห็นแก่ตัว คือ พวกเขาชินกับแบบของตัวเอง ดังนั้น ต้องมีกฎให้ชัดเจน และทำตามกฎเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด อย่าให้การงอแง และการต่อรองของลูกเป็นเหตุให้เราไม่ปฏิบัติตามกฎ บ้านที่มีกฎระเบียบชัดเจนจะช่วยให้ลูกมีการพัฒนาทางด้านสังคมที่ดี บอกพี่เลี้ยงเด็กและคนรอบข้างด้วยว่าเรามีความคาดหวังอะไรในตัวลูก และให้ทุกคนปฏิบัติตามร่วมกัน
ขั้นที่ 5 สร้างเสริมพฤติกรรมการไม่เห็นแก่ตัว เด็กที่เกิดมาเป็นคนเห็นอกเห็นใจคนอื่นนั้นไม่ได้เป็นนิสัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนและพูดให้ลูกรู้สึกและระวังถึงความรู้สึกของคนอื่นทุกครั้งที่ทำได้ ตัวอย่างเช่น “ลูกเห็นหน้าของน้องแพงไหม เขาดีใจมากที่ลูกพูดอย่างนั้น ที่ลูกแบ่งของเล่นให้น้องแพง ลูกมีใจกว้างจริงๆ”
การเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก จะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อลูกจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่ช่วยเหลือคนอื่น ไม่นิ่งดูดาย และไม่เป็นฆาตกรที่ฆ่าคนอื่นทางด้านร่างกาย และอารมณ์โดยไม่รู้ตัว เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน
http://www.parents.com/toddlers-preschoolers/development/behavioral/selfish-behavior/