กรมวิทย์ตรวจ “ทิชชูเปียก - ผ้าเปียก” พบไม่ผ่านมาตรฐาน 4% เหตุปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ รา คาดผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ชี้เช็ดรอบดวงตา ผิวอักเสบ มีแผล เป็นสิว เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เผยใช้แล้วแพ้ต้องหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเช็ดทำความสะอาดชนิดเปียก ซึ่งมีทั้งชนิดผ้าและทิชชู จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยนิยมใช้กันมากขึ้น เนื่องจากสามารถใช้เช็ดทำความสะอาดได้ดีและสะดวก ทำให้มีการผลิตและจำหน่ายจำนวนมาก โดยจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ทั้งนี้ มีข้อมูลจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) ว่า ได้มีการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดแบบเปียกบางยี่ห้อคืนจากท้องตลาด เนื่องจากพบจุลินทรีย์ในกลุ่ม Pseudomonas ปนเปื้อน กรมฯ จึงได้จัดโครงการสำรวจคุณภาพมาตรฐานด้านจุลชีววิทยาของตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเช็ดทำความสะอาดชนิดเปียก โดยสุ่มเก็บตัวอย่างยี่ห้อต่างๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาด ในราคาระดับตลาดล่างถึงระดับกลาง จากแหล่งผลิตทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ระหว่าง ม.ค.-มี.ค. 2559 จำนวน 44 ตัวอย่าง รวม 254 รายการ
นพ.สุขุม กล่าวว่า ผลการตรวจพบว่า ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรค แต่พบว่ามีบางตัวอย่างไม่ผ่านมาตรฐานด้านจุลชีววิทยาจำนวน 2 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 4.5 เนื่องจากมีจำนวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และ รา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศมากกว่า 1,000 cfu/g ซึ่งอาจมีสาเหตุจากกระบวนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงขั้นตอนการเตรียมและเก็บรักษาส่วนประกอบต่างๆ โดยข้อมูลการสำรวจคุณภาพนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางแผนพัฒนาคุณภาพและเฝ้าระวังตรวจสอบต่อเนื่อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและได้มาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
“การเลือกซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดชนิดเปียกให้ปลอดภัยนั้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อที่มีฉลากระบุชื่อ ส่วนผสม วิธีใช้ ที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า และวันเดือนปีที่ผลิตชัดเจน ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ หรือมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีกลิ่นปกติ สีเปลี่ยน มีรอยด่างดำ เป็นต้น สังเกตส่วนประกอบสำคัญที่ฉลากโดยละเอียดหากมีประวัติการแพ้สารใดมาก่อน และควรเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในที่แห้งและเย็น เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเช็ดทำความสะอาดชนิดเปียกที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการปนเปื้อนแบคทีเรีย ยีสต์ รา หรือเชื้อก่อโรคอื่นๆ ทำให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็ก หรือบริเวณผิวบอบบางรอบดวงตา ผิวที่อักเสบ มีสิว หรือมีบาดแผล จะมีความเสี่ยงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้น ผู้บริโภค ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเช็ดทำความสะอาดชนิดเปียกที่มีฉลากภาษาไทยชัดเจน ครบถ้วน ได้รับการจดแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุผู้ผลิตชัดเจน และควรสังเกตหากใช้เครื่องสำอางแล้วมีอาการแพ้ เป็นผื่นแดง บวม อักเสบ ต้องหยุดใช้เครื่องสำอางชนิดนั้นๆ และไปพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว