xs
xsm
sm
md
lg

ชง ครม.ปรับขึ้นค่าจ้างปี 60 หอการค้าฯ หนุนปรับขึ้นไม่มาก เชื่อราคาสินค้าไม่ขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน เตรียมเสนอ ครม. ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 60 วันที่ 15 พ.ย. ด้านหอการค้าฯ หนุนขึ้นค่าจ้าง 5 - 10 บาท เหตุปรับขึ้นไม่มาก ไม่กระทบนายจ้าง ราคาสินค้าไม่ขึ้น หนุนขึ้นค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน เสนอแต่ละสถานประกอบการมีโครงสร้างค่าจ้างตัวเอง

วันนี้ (14 พ.ย.) ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวภายหลังหารือร่วมกับหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า จากการที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 เพิ่มอีก 5 - 10 บาททั่วประเทศ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ค่าจ้างคงเดิม 300 บาทต่อวัน จำนวน 8 จังหวัด กลุ่มที่ปรับขึ้น 10 บาทต่อวัน จำนวน 7 จังหวัด กลุ่มที่ปรับขึ้น 8 บาทต่อวันจำนวน 13 จังหวัด และกลุ่มที่ปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน โดยทั้งหมดกระทรวงแรงงานคิดอย่างรอบคอบด้วยปัจจัยชี้วัดต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ ล่าสุด เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างกรณีจ่ายเงินสมทบ โดยการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมผ่านระบบอี-เพย์เมนต์ (E-Payment) เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและสถานประกอบการ โดยนายจ้างสามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th และแจ้งหักบัญชีเงินฝากธนาคาร ของนายจ้างเพื่อชำระเงินสมทบ นอกจากนี้ ยังสามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน การแจ้งเข้าทำงาน แจ้งลาออก โดยเป็นการอำนวยความสะดวกให้มากยิ่งขึ้น

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าฯ เห็นว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้เป็นไปอย่างเหมาะสม เพราะมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ รอบด้าน เช่น อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่าย สภาพการจ้างงาน เป็นต้น และการขึ้นค่าจ้างในอัตรา 5 - 10 บาท ซึ่งเฉลี่ยคือเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 2% เป็นอัตราที่สถานประกอบการสามารถบริหารจัดการได้ และไม่น่ามีผลกระทบต่อการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งแตกต่างจากสมัยขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศไทย นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน และสนับสนุนให้สถานประกอบการต่างๆ มีโครงสร้างค่าจ้างของตนเอง เพื่อทดแทนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละปี ทั้งนี้ อยากให้มีการแยกค่าจ้างในเขตเศรษฐกิจพิเศษออกมา ซึ่งได้มีการเสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว

นายสุรงศ์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับกติกาในการทำงาน โดยทำให้ทราบว่าธุรกิจใดที่ไม่ต้องขออนุญาตเข้ามาทางกระทรวงแรงงาน อาทิ การจัดการประชุม การจัดแสดงสินค้า เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น