xs
xsm
sm
md
lg

ปลายด้ามขวานสู่อุตสาหกรรม ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ในท่ามกลางระเบิดและควันปืนกว่า 12 ปี ของความไม่สงบในชายแดนใต้ นโยบายของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงมีความชัดเจนมากขึ้น ว่า จะพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีสัดส่วนของอุตสาหกรรมหนักและเบามากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และแก้ปัญหาความไม่สงบแม้จะเป็นนโยบายที่ไม่ได้ประกาศ แต่ก็มีความชัดเจนมากขึ้นในอัตราเร่ง

จิ๊กซอว์นโยบายการเปลี่ยนชายแดนใต้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ว่านี้ ได้แก่

ปี 2557 รัฐบาลผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งมากเกินพอสำหรับการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ที่ใช้สูงสุดที่ 2,400 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าจะนะ 1,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนอม 900 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กอื่นกว่า 400 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้ากระบี่ที่รัฐยืนยันจะสร้างให้ได้อีก 800 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินไปอย่างมีเลศนัย

มีนาคม 2558 รัฐบาลประกาศตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดนราธิวาส ในพื้นที่ 5 ตำบลใน 5 อำเภอคืออำเภอเมือง ยี่งอ ตากใบ แว้ง และ สุไหงโก-ลก รวมเนื้อที่ส่งเสริมกว่า 147,000 ไร่ โดยเน้นอุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมฮาลาล และอุตสาหกรรมพลังงานเช่นโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยจะมีการเอื้อประโยชน์จูงใจในการลงทุนอย่างเต็มที่

เมษายน 2559 สนช. เห็นชอบข้อเสนอโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ด้วยเหตุผลว่า จะช่วยแก้จนที่เป็นสาเหตุความไม่สงบและประกาศยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ปะนาเระไปในโอกาสเดียวกัน เพื่อหลีกทางให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน

มิถุนายน 2559 รัฐบาลประกาศดันโครงการ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พัฒนาเมืองหนองจิก สุไหงโก-ลก และ เบตง เป็นต้นแบบการพัฒนาแบบผสมผสานสำหรับอำเภอหนองจิกจะถูกพัฒนาในลักษณะเกษตรอุตสาหกรรม หรืออาจกลายเป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต เพราะใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

สิงหาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศผลรายชื่อผู้ผ่านเทคนิคโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 28 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 240.8 เมกะวัตต์ (MW) สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 36 MW เกือบ 7 เท่าซึ่งหมายาความว่าจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลกระจายตัวในวงกว้างทั่วพื้นที่ชายแดนใต้

ตุลาคม 2559 กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กอ.รมน. ภาค 4 ประกาศให้มีการพัฒนาแหล่งแร่ในพื้นที่สำคัญ 3 จังหวัดชายแดน และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมการทำเหมืองแร่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน เหมืองทอง เหมืองแมงกานีส เหมืองดินขาว เหมืองหิน คือศักยภาพสำคัญของพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีโครงการท่าเรือน้ำลึกสวนกงที่จะนะ และท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ละงู เชื่อมด้วยรถไฟรางคู่และนิคมอุตสาหกรรมที่จะตามมาทั้งสองฝั่งทะเล ซึ่งเป็นโครงการที่มีการผลักดันมายาวนาน แต่ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง และยังมีโครงการเก่าเก็บที่ไม่มีการดำเนินการแต่ก็ไม่มีการประกาศยุติโครงการ เช่น โครงการเขื่อนสายบุรี โครงการเหมืองลิกไนท์สะบ้าย้อย ซึ่งอาจถูกปลุกผีขึ้นมาวันไหนก็ได้ในอนาคต

ทั้งหมดนี้ คือ จิ๊กซอว์ ที่ชี้ให้เห็นว่า ทิศทางการดับไฟใต้ในอนาคต จะมีกระสุนเงินตราจากทุนอุตสาหกรรมมาช่วยดับไฟใต้ เสริมแรงฝ่ายความมั่นคงอีกแรงหนึ่ง

ส่วนคำตอบที่ว่า การพัฒนาชายแดนใต้สู่การเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหนักและเบานั้น จะสามารถแก้ปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่นั้น เป็นสิ่งต้องตามดูกันต่อไป แต่สำหรับผมเชื่อว่าเหรียญมีสองด้าน เมื่อเป็นการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับบริบทวิถีของชุมชน และกระสุนเงินที่จะเข้ามาในพื้นที่ จะนำมาซึ่งความแตกแยก การแบ่งข้างของประชาชนกันเองในพื้นที่ ดังที่ปรากฏมาแล้วในทุกพื้นที่ หรือนี่คือการสร้างความแตกแยกเพื่อปกครอง

สำหรับผม นี่จะอีกเงื่อนไขความซับซ้อนที่จะเป็นภัยแทรกซ้อนที่เติมเชื้อไฟให้ไฟใต้ให้ลุกโชนกว่าเดิมก็เป็นได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น