ผู้จัดการออนไลน์ รับโล่รางวัลสื่อร่วมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่จาก “องคมนตรี” ด้าน “หมอประกิต” เผย พระราชดำรัสในหลวง ร.๙ ทรงห่วงสถานการณ์นักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น อายุลดน้อยลง ต้องเดินหน้าลดการสูบ ผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ให้บังคับใช้โดยเร็ว
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดงานครบรอบ 30 ปี ของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พร้อมทั้งมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคล และองค์กรที่ได้ร่วมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ องค์กรเครือข่าย สื่อมวลชนทุกแขนง ศิลปินนักแสดงชื่อดัง เช่น สกาย ฮอร์โมน - วงศ์รวี นทีธร นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติ นำโดย นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมวอลเลย์บอล วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ หรือ กัปตันกิ๊ฟ ปลื้มจิตร์ ถินขาว เป็นต้น รวมไปถึงเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ และเครือสาธารณสุข เป็นต้น โดยได้รับเกียรติจาก นายพลากร สุวรรณรัตน์ องคมนตรี เป็นผู้มอบโล่รางวัล โดยผู้จัดการออนไลน์เป็นหนึ่งในสื่อที่ได้รับโล่รางวัลดังกล่าวด้วย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสไว้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ว่า “เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ เล็ก ๆ มีการสูบบุหรี่มากขึ้น เห็นมีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ แล้วก็ห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุ 18 ที่จริงอายุ 50 ก็ควรจะห้าม” อีกทั้งการที่พระองค์ท่านได้รับการถวายโล่เพื่อเชิดชูพระเกียรติจากองค์การอนามัยโลก เมื่อ พ.ศ. 2543 ดังที่มีการจารึกว่า “ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำทางจิตใจที่มุ่งมั่นและกอปรด้วยพลัง ทรงเป็นแบบอย่างทางสาธารณสุข ได้ทรงสร้างแนวทางตลอดจนบริบททางวัฒนธรรม ที่สนับสนุนกิจกรรมเพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย อีกทั้งได้พระราชทานแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่แก่ราษฎรของพระองค์ ประชาชนในภูมิภาคและในโลก”
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า หากจะลดการสูบบุหรี่ของคนไทยให้ได้ผลยิ่งขึ้น การป้องกันนักสูบหน้าใหม่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการสำรวจพบว่า คนไทยที่ติดบุหรี่กว่าครึ่งเริ่มสูบก่อนอายุ 17 ปี และเมื่อติดแล้วมีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้น ที่สามารถเลิกได้ อีกกว่า ร้อยละ 70 จะติดไปตลอดชีวิต ดังนั้น หากเราสามารถป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่ ก็จะช่วยหยุดการเติมนักสูบหน้าใหม่เข้าสู่วงจรการสูบ การป่วย และการตายจากบุหรี่ รวมทั้งจะเป็นการป้องกันเยาวชนจากการก้าวไปสู่สิ่งเสพติดและอบายมุขที่ร้ายแรงชนิดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลของ น.ส.ศรัณญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534 - 2558) พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคน ในปี 2534 เป็น 10.9 ล้านคน ในปี 2558 ในจำนวนนี้พบว่าเป็นเด็กที่มีอายุ 15 - 18 ปี 3.1 แสนคน ซึ่งหากเราช่วยกันปกป้องเด็กจากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 90
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า มาตรการทางกฎหมายเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่งในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ แต่ทว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบของประเทศไทย ได้แก่ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 นั้น ใช้มากว่า 24 ปีแล้ว ทำให้มีช่องโหว่ที่ธุรกิจยาสูบสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการล่านักสูบหน้าใหม่มาโดยตลอด เพราะธุรกิจยาสูบต้องการเด็กเข้ามาเป็นลูกค้าใหม่เพื่อทดแทนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ที่ทยอยลดลง เพราะป่วยและตายหรือเลิกสูบ ดังนั้น พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีมาตรการสำคัญ ๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิมในการปกป้องเด็กจากการเข้าถึงบุหรี่
“ผมขอขอบคุณทุกฝ่ายอย่างจริงใจที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในการสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และร่วมกันผลักดันกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และ ครม. ที่มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมขอขอบคุณแทนเด็กไทย ที่จะได้รับการปกป้องจากการเสพติดบุหรี่ เราทุกคนจะร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อไป” ศ.นพ.ประกิต กล่าว