ไทยเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บท “สมุนไพร” เพิ่มมูลค่าการตลาดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ห่วงคนไทยความรู้การใช้สมุนไพรน้อย ต้องเร่งให้ความรู้เพิ่มการใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยลดใช้ยาแผนปัจจุบัน - ยาปฏิชีวนะ พ่วงศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้น
วันนี้ (26 ต.ค.) ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเปิดการประชุมมอบนโยบายแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564 และพิธีเปิดพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพประชาชนและงานสาธารณสุข โดยเฉพาะการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย จะเห็นได้ว่า หลายโครงการเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเกิดจากพระราชดำริและพระราชดำรัสของพระองค์ เช่น การสอนการแพทย์แผนไทยที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ศูนย์ศึกษาห้วยทราย หรือแม้กระทั่งโครงการดอยคำ เป็นต้น ซึ่งสมุนไพรไทยถือเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและสังคมไทย ได้รับการสั่งสม สืบทอด และพัฒนาต่อเนื่องยาวนาน
“สมุนไพรไทยขณะนี้มีการพัฒนาไปมาก ทั้งเรื่องของการปลูก การแปรรูป การทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญ ยังเป็นที่ยอมรับ และสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นให้แก่ประเทศไทย โดยปี 2558 มูลค่าการตลาดของสมุนไพรทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 9.1 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่า จะเพิ่มเป็น 1.15 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยการเจริญเติบโตของตลาดสมุนไพรอยู่ที่เอเชียแปซิฟิกสูงถึงร้อยละ 9.1 ต่อปี ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมาทำประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบตรงที่อยู่ในเขตร้อนชื้น มีพืชพันธุ์ไม่น้อยกว่า 20,000 ชนิด นำมาใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด แต่จุดอ่อนคือ การศึกษาวิจัย รวมไปถึงประชาชนยังขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรอยู่มาก ยังไม่รู้ว่าหากเจ็บป่วยลักษณะนี้ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง เป็นไข้ ต้องใช้สมุนไพรตัวใดในการดูแลสุขภาพตัวเอง จึงต้องเร่งทำในเรื่องของการให้ความรู้และการประชาสัมพันธ์ด้วย” รองนายกฯ กล่าวและว่า อย่างผักตบชวาที่ให้ไปศึกษาว่ามีสรรพคุณอะไร ก็ได้คำตอบว่าส่วนใหญ่เป็นสารพิษ แต่ก็ไม่อยากให้หยุดแค่นี้ เพราะหลายอย่างที่พบว่ามีพิษก็มีการศึกษาต่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น พิษจากผิวหนังคางคกก็มีนักวิทยาศาสตร์นำมาศึกษาทำเป็นยาก็ช่วยเพิ่มมูลค่าได้
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมอบให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 8 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งภาคประชาสังคมและเอกชน จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564 ขับเคลื่อนผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ 2. พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล 3. ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ และ 4. สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นแผนการพัฒนาที่เป็นระบบอย่างยั่งยืน เป็นประเทศชั้นนำในการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพร มูลค่าวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว ที่สำคัญ เมื่อประชาชนมีความรู้การใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพก็จะลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน ลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลลง ระบบสาธารณสุขก็จะมั่นคงและยั่งยืนขึ้น
“ขณะนี้มีการใช้กลไกประชารัฐขับเคลื่อนเรื่องสมุนไพรอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนผ่านโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร ซึ่งเป็นภาพจำลองของแผนแม่บทแห่งชาติฯ นำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดของประเทศ ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงราย สกลนคร ปราจีนบุรี และ สุราษฎร์ธานี ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีความเหมาะสมกับการปลูกสมุนไพรที่ต่างกัน” รองนายกฯ กล่าว