กรมอนามัย เปิดให้บริการทันตกรรมฟรี ที่คลินิกส่งเสริมทันตสุขภาพช่องปาก สืบสานพระปณิธาน “สมเด็จย่า” เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
วันนี้ (21 ต.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมการให้บริการทันตสาธารณสุข ภายใต้โครงการรณรงค์ คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า เพื่อพัฒนาการสมวัย ณ คลินิกส่งเสริมทันตสุขภาพช่องปากและทันตกรรมป้องกัน กรมอนามัย ว่า วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีเป็น วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระมารดาแห่งวงการทันตแพทย์ไทย กรมอนามัยได้ร่วมกับมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) จัดโครงการรณรงค์คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า เพื่อพัฒนาการสมวัย เป็นการส่งเสริมให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ดูแลสุขภาพช่องปากของคนไทย โดยหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการนี้ คือ การจัดบริการทันตกรรมทั่วประเทศให้แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัยโดยไม่คิดค่าบริการ เพื่อเป็นการสืบสานพระปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพช่องปาก ที่ดี ซึ่งที่คลินิกส่งเสริมทันตสุขภาพช่องปากและทันตกรรมป้องกัน กรมอนามัย ก็มีการเปิดให้บริการเช่นกัน
นพ.วชิระ กล่าวว่า การเข้ารับบริการทันตกรรม ประชาชนจะต้องรับบริการในสถานพยาบาล หรือคลินิกทันตกรรมที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดฟันต้องทำโดยทันตแพทย์ที่มีความรู้เรื่องโครงสร้างของขากรรไกรและฟัน หากไปใช้บริการกับคลินิกเถื่อนหรือหมอเถื่อน ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อในช่องปากสูง เพราะวัสดุที่เอาเข้าไปในปากไม่ถูกสุขลักษณะ ลวดอาจทิ่มไปโดนเหงือก หากเหงือกอักเสบอยู่แล้วยิ่งมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น โรคติดเชื้อจากเหงือก ฟันผุ กรามเน่าเป็นหนอง เกิดอาการบวม เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปยังกล้ามเนื้อ เส้นเลือด สู่อวัยวะอื่นในร่างกาย อาทิ ปอด หัวใจ เป็นต้น ติดเชื้อร้ายแรงสุดถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งการจัดฟันขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทันตแพทย์เท่านั้น หากฟันดีอยู่แล้วไม่มีข้อบ่งชี้ว่ามีความจำเป็นต้องจัดฟัน
“ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยบางโรคที่ต้องระวังและแจ้งทันตเพทย์ก่อนทุกครั้งที่เข้ารับบริการทำฟันหรือขูดหินปูน ซึ่งกลุ่มแรกเป็นกลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก ได้แก่ โรคเกล็ดเลือดต่ำ หรือโรคลิวคีเมีย อาจมีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามร่างกายร่วมด้วย โรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต เพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและการใช้ยาละลายลิ่มเลือด และกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่อาจแสดงอาการในระหว่างการทำฟัน ได้แก่ โรคหัวใจ อาจมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย ใจสั่น โรคหอบหืด อาจมีอาการหอบเหนื่อย ต้องมียาพ่นประจำ และได้รับยาสเตียรอยด์โรคลมชัก และโรคความดันโลหิตสูง และสุดท้าย คือ โรคเบาหวาน เพราะมีผลกระทบทำให้แผลหายยาก ซึ่งหากแจ้งให้ทันตแพทย์ได้รับทราบก่อน จะช่วยให้สามารถเตรียมป้องกันและเตรียมความพร้อมในกรณีที่อาการกำเริบได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว