xs
xsm
sm
md
lg

เกียรติยศสูงสุดในชีวิต “อดีตคณบดีศิริราช” ผู้ถวายงาน “ในหลวง” แก้ปัญหาน้ำท่วม-จราจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสรับสั่งแก้ปัญหาจราจรโดยรอบ รพ.ศิริราช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก เพราะแม้พระองค์จะประชวรและอยู่ระหว่างการพักฟื้นพระวรกาย แต่พระองค์ก็ยังทรงงานหนัก เพื่อที่จะช่วยเหลือแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ท่านให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วงปี 2550 - 2554 เล่าว่า ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประทับเพื่อรักษาพระอาการประชวรที่ รพ.ศิริราช ยังทรงงานอยู่ตลอด ภายใต้การถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ โดยห้องทรงงานของพระองค์จะอยู่ติดกับห้องประทับของพระองค์ เป็นห้องโล่ง ๆ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีโต๊ะทรงงาน และเก้าอี้ประทับ ซึ่งพระองค์จะทอดพระเนตรดูความเป็นไปของบ้านเมืองและพสกนิกรของพระองค์

“ระยะเวลาในการทรงงานของพระองค์จะอยู่ที่พระวรกายและสุขภาพของพระองค์ หากพระวรกายของพระองค์ดีขึ้น ก็จะทรงงานบ่อย ซึ่งพระองค์ทรงห่วงเรื่องปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะปี 2554 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ รวมไปถึงทอดพระเนตรเห็นปัญหาการจราจรในฝั่งธนบุรีและโดยรอบ รพ.ศิริราช โดยโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นผู้ถวายรายงานเกี่ยวกับน้ำท่วมและการจราจรทุกวัน”

จากคนที่เติบโตมาในสายงานแพทย์ แต่กลับต้องถวายรายงานเรื่องน้ำท่วมและจราจร ถือเป็นเรื่องยากและท้าทายอย่างมากในชีวิต

ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ ยอมรับว่า เรื่องน้ำท่วมและการจราจร เป็นข้อมูลที่ไม่ถนัดเลย อย่างไรก็ตาม การถวายรายงานต่าง ๆ ทั้งข้อมูลเรื่องน้ำท่วมและการจราจร ก็จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นรายงานถวายพระองค์ในทุก ๆ วัน อย่างน้ำท่วมพระองค์ทรงห่วงใยมาก รับสั่งให้หาข้อมูลน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. ทั้งที่ช่วงน้ำท่วมตามปกติ คือ ช่วงเดือน ต.ค. สะท้อนถึงสายพระเนตรอันกว้างไกลและความเป็นห่วงของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกร ก็มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมชลประทาน ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร และเขตต่าง ๆ กว่า 20 - 30 คน เรียกได้ว่าเป็นข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง โดยมีตนเป็นผู้ถวายรายงานพระองค์ท่าน และต้องตอบพระองค์ได้ในทันทีว่าแต่ละวันสถานการณ์เป็นเช่นไร สูงขึ้นเท่าไร น้ำขึ้นเท่าไร เป็นต้น

“พระองค์ท่านทรงโปรดที่จะเสด็จฯ ลงมาทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างไร ฝั่งพระนครเป็นอย่างไร ระดับน้ำเป็นอย่างไรแล้ว ความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเช่นไร ซึ่งคณะแพทย์ก็พยายามทำให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญที่สุด โดยให้พระองต์ท่านได้เปลี่ยนพระอิริยาบถ โดยนอกจากการเสด็จฯ ลงมาเสวยพระกระยาหารแล้ว ยังได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมมหาราชวังด้วย นอกจากนี้ ยังพาเสด็จฯขึ้นไปยังบนดาดฟ้าของตึกสยามินทร์ เพื่อทอดพระเนตรความเป็นไปของบ้านเมืองโดยรอบอีกด้วย”
ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์
ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาจราจรฝั่งธนบุรี ต้องนำแผนที่มาถวาย ตั้งแต่บริเวณในศิริราช นอกศิริราช และต้องคำนวณจำนวนประชาชนที่เดินทางผ่านศิริราชเท่าไร ซึ่งประมาณได้ว่าวันละกว่า 1 แสนคน เฉพาะคนไข้วันละประมาณหมื่นกว่าคนแล้ว การจราจรจึงเป็นปัญหาทั้งบริเวณรอบศิริราช และละแวกฝั่งธนบุรี ก็มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา ซึ่งสุดท้ายก็ได้ออกมา 8 โครงการในพระราชดำริ ซึ่งมีทั้งที่สำเร็จและและอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ ทั้งการสร้างสะพานลอยฟ้า ถนนลอยฟ้า โลคัลโรด รอบ รพ.ศิริราช การขยายถนนอรุณอมรินทร์ การมีรถไฟฟ้าใต้ดินและลอยฟ้าตัดผ่านมาแถวนี้ ก็เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระองค์

“พระองค์ทรงงานหนักอย่างมากเพื่อพสกนิกรของพระองค์ และการถวายงานรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ ก็ถือเป็นเกียรติยศและความประทับใจสูงสุดในชีวิตของผม และเป็นสิ่งที่ผมได้ทำลงไปแล้ว ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม อย่างช่วงที่ผมเข้ามารับตำแหน่งคณบดี พระองค์ก็ทรงรับสั่งให้ผมเป็นนักเรียนใหม่ ตั้งใจทำงาน คือ เป็นนักเรียนใหม่ที่ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ อยู่เสมอ และจากการถวายงานสายพระเนตรของพระองค์ที่มองประชาชนล้วนเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาอย่างมาก”

ในเรื่องการฟื้นฟูพระวรกายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ เล่าว่า พระองค์ทรงมีความอดทนอย่างมากในการฟื้นฟูพระวรกายหลังจากมีพระอาการประชวร ซึ่งสำหรับผู้ป่วยสูงวัยถือเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง แต่พระองค์ก็อดทนในการที่จะเสด็จฯ ลุกจากพระที่นั่ง ยืน หรือทรงจักรยานเพื่อฟื้นฟูพระวรกายโดยเร็ว จึงอยากให้ทุกคนอดทนเหมือนเช่นองค์พ่อหลวงของพวกเรา

“การที่ประชาชนมาเฝ้าที่ รพ.ศิริราช เพื่อแสดงความจงรักภักดีและให้กำลังใจแด่พระองค์ ทั้งการถวายดอกไม้ ถวายบังคม หรือเปล่งเสียงทรงพระเจริญ พระองค์ทรงได้ยินตลอด และทำให้พระองค์มีพระพักตร์ที่แจ่มใสขึ้น เพราะโดยปกติแล้วกำลังใจถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วย ดังนั้น ใครที่มีตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการให้กำลังใจคนต้องทำอย่างเต็มที่ อย่าให้ขาดกำลังใจ”

ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ อย่างที่บอกว่าคณะแพทย์พยายามทำให้พระองค์ทรงเกษมสำราญมากที่สุด นอกจากการเปลี่ยนพระอิริยาบถด้วยการพาเสด็จฯไปยังบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือชั้นดาดฟ้าแล้ว ยังมีการจัดแสดงต่าง ๆ ด้วย อย่างช่วงตรุษจีนก็เชิญแชมป์ตรุษจีนมาให้ทอดพระเนตร หรือพระองค์ทรงโปรดดนตรีก็จัดให้มาแสดงในหอประชุม พระองค์ท่านก็เสด็จทอดพระเนตร และตรัสว่า ขอบใจนะที่จัดให้ เพลงเพราะดี หรืออย่างการจัดงานเทศน์มหาชาติ พระองค์ก็เสด็จฯลงมาเปิด ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง
ห้องทรงงาน
“เมื่อครั้งเสด็จฯลงมาจากห้องประทับเป็นครั้งแรก เพื่อถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวนเสร็จแล้วคราแรกคณะแพทย์ก็จะให้เสด็จฯกลับห้องประทับ แต่พระองค์ทรงตรัสว่าให้วนเป็นวงใหญ่ ไปให้ไกลขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่มาได้เห็นโดยรอบ ซึ่งการเสด็จฯครั้งนั้นส่งผลให้บ้านเมืองดีขึ้นทันตา”

สำหรับพระราชดำรัสเกี่ยวกับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ศ.คลินิพ นพ.ธีรวัฒน์ เล่าว่า การฟ้องร้องแพทย์ทุกวันนี้มีมากขึ้น พระองค์มีรับสั่งให้พวกเราต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะทุกคนมีดีหมดอย่าไปดูถูกใคร คือ เป็นการให้เกียรติคนทุกคน ไมตรีจิตก็จะเกิดขึ้น ปัญหาก็จะลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยก็จะดีขึ้น ตนจึงได้นำพระราชดำรัสนี้บอกต่อแก่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น