ในอดีตพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล การดูแลด้านสุขภาพอนามัยยังไม่ทั่วถึงครอบคลุม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงให้ความสำคัญกับการสาธารณสุข เพราะการที่ประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีตามไปด้วย
ดังนั้น โครงการที่พระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรก ๆ ล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร พระองค์ทรงพบว่าราษฎรเป็นจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ต่อมาเมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม เพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการต่าง ๆ โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะงานได้เป็น 2 ประการ คือ 1. การบำบัดรักษาโดยการตรวจจากคณะแพทย์พระราชทาน ซึ่งอาจแบ่งออกได้ ดังนี้
- แพทย์ประจำพระองค์ และคณะแพทย์ตามเสด็จฯ
- หน่วยแพทย์หลวงกองแพทย์หลวง สำนักพระราชวัง และเจ้าหน้าที่
- คณะแพทย์ตามพระราชประสงค์ เป็นแพทย์ที่อาสามาจากหลายสาขาวิชาหลายหน่วยงาน อาทิ คณะศัลยแพทย์อาสา จากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลศิริราช คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คณะแพทย์หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ หน่วยทันตแพทย์เคลื่อนที่ จากกรมแพทย์ทหารบก คณะจักษุแพทย์
แพทย์พระราชทานดังกล่าว จะจัดชุดทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้ ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และ โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณที่ตรวจโรคหน้าภูพานราชนิเวศน์ และทักษิณราชนิเวศน์ และตามเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพยาบาลยังหมู่บ้านต่าง ๆ
2. การอบรมหมอหมู่บ้านตามพระราชดำริ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับการอบรมเหล่านี้ได้นำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตน การอบรมจะเน้นในเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเวชศาสตร์ป้องกันอย่างง่าย ๆ การโภชนการ (โดยเฉพาะแม่และเด็ก) การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลของรัฐคือสถานีอนามัย จนถึงโรงพยาบาลอำเภอและจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่มาให้การสนับสนุนในการอบรมหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายการแพทย์ สถานที่ดำเนินการฝึกอบรม ได้แก่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่
งานทั้ง 2 ลักษณะข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุมในภาคเหนือตอนบน ประมาณ 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และ พิษณุโลก
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร มหาสารคม กาฬสินธุ์ เลย และในภาคใต้ 4 จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา
โครงการแพทย์พระราชทาน ซึ่งประกอบด้วย การบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้าน เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎร ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีอุปสรรคที่ระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การมีคณะแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดรักษาผู้ป่วยจะทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ใด ๆ และสำหรับการอบรมหมอหมู่บ้านนั้นจะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน รู้จักวิธีรักษาพยาบาลแบบปัจจุบัน และรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการ ในกรณีที่เกินขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาตนเองได้อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งอาจกล่าวสรุปได้ว่า โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจะแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ทางด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นผลที่ได้รับโดยตรงจะช่วยแก้ปัญหาการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพได้ปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก จำนวนราษฎรทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการบำบัดรักษาจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน จะเป็นชาวชนบทที่ยากจนที่มีอาชีพเป็นเกษตรกรอันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จากจำนวนตัวเลขที่ปรากฏในแต่ละปีจะมีราษฎรที่เจ็บป่วยจากทุกภาคที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งที่เป็นคนไข้ในโรงพยาบาลและผู้ที่มาขอรับการตรวจ ตลอดจนถึงการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามเสด็จฯ ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนคน
2. ทางด้านเศรษฐกิจ การที่ราษฎรเจ็บป่วยจะเป็นปัญหาในการประกอบอาชีพของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่จะต้องใช้กำลังภายในการทำงาน ดังนั้น เมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลามัยที่ดีแล้ว ราษฎรเหล่านั้นก็สามารถมีร่างกายที่สามารถต่อสู้กับงานหนักในการประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะได้ยังผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมของสังคมดีขึ้นอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สธ. สวมชุดดำลงนามแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ต่อเบื้องพระบรมฉายาลักษณ์ ว่า
"“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงเป็นผู้นำทางด้านสาธารณสุขอย่างแท้จริง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการสาธารณสุข ทั้งเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ทรงพระราชทานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เข้าถึงบริการสุขภาพลำบาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้น เพื่อพระราชทานทุนแก่แพทย์เพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศและกลับมาพัฒนางานสาธารณสุขของประเทศ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการปราบโรคระบาด และการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางในการป้องกันโรค เช่น โรคเรื้อน โรคโปลิโอ เป็นต้น นับจากนี้ สธ. จะน้อมน้ำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติและส่งเสริมให้โรงพยาบาลในสังกัดดำเนินตามหลักปรัชญา และทำให้เป็นโรงพยาบาลคุณธรรม ทำให้บุคลากรของสถานพยาบาลมีกำลังใจในการดูแลสุขภาพประชาชนให้มากที่สุด”
ข้อมูล :: องค์การคณะทำงานร่วมการปฏิบัติงานพัฒนาหมู่บ้านชนบทสนองแนวพระราชดำริ (คพร.)