“หมอประเสริฐ” ย้ำ ต้องเร่งทำแนวปฏิบัติ “ดูแลหญิงท้องติดซิกา - ทารกศีรษะเล็ก” หวังสูติแพทย์ร่วมคิดกำหนดชัด เส้นรอบวงศีรษะทารกแค่ไหนถึงเล็ก ต้องทำแท้งหรือไม่ ด้านสูติแพทย์หนุนมีไกด์ไลน์ เหตุเป็นโรคใหม่ รับข้อมูลน้อย ไม่มีแนวทางชัดเจน เด็กหัวเล็กจาก “ซิกา” แค่ไหนถึงให้ทำแท้ง
หลังการตรวจยืนยันว่า ทารกแรกเกิดศีรษะเล็ก 2 ราย เป็นผลมาจากการติดเชื้อซิกาจากมารดา ส่วนอีก 1 ราย ยังต้องรอผลตรวจสอบให้แน่ชัด และจะมีการทำแนวทางปฏิบัติการการแพทย์ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์สงสัยติดเชื้อซิกา และกรณีทารกศีรษะเล็กจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งมี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยุสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เป็นประธาน
วันนี้ (4 ต.ค.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค (คร.) ในฐานะประธานกรรมการวิชาการด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา กล่าวว่า ผลการตรวจทารกศีรษะเล็กรายที่ 3 ยังไม่ได้ข้อสรุปออกมา ส่วนแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ดังกล่าว โดยหลักการจะจัดทำเป็นแนวทางเพื่อให้ทราบว่าจะพิจารณาอย่างไร ว่า เด็กมีภาวะศีรษะเล็ก คือ 1. พิจารณาจากเส้นรอบวงศีรษะของทารก เช่น 31 เซนติเมตร ถือว่าผิดปกติแล้ว และ 2. มีภาวะติดเชื้อซิกาจริงหรือไม่ ซึ่งหากตรวจในมารดาพบเชื้อซิกาจริง ด้วยปัญหาเหล่านี้ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะยุติการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ และหากทำจะต้องทำที่อายุครรภ์เท่าไร ซึ่งก็ต้องก่อนจะถึง 28 สัปดาห์ หรืออาจต่ำกว่านั้น เรื่องนี้ต้องให้ทางสูตินรีแพทย์มาร่วมพิจารณาและวางแนวทางร่วมกัน ซึ่งถือว่าสำคัญมาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดต้องร่วมกันมาช่วยกันคิด เพราะการที่พ่อแม่มีลูกที่พิการศีรษะเล็ก ก็ถือว่าทุกข์แล้ว และการที่ต้องคลอดออกมาและเลี้ยงพวกเขาไปตลอดก็ไม่เช่นเรื่องง่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทารกศีรษะเล็กจะมีอายุได้นานแค่ไหน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะดังกล่าว รายที่มีความรุนแรงมากอาจอยู่ได้ประมาณ 1 ปี แต่บางรายก็อยู่ได้เป็นสิบ ๆ ปี สิ่งสำคัญป้องกันไม่ให้เกิด ลดปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะอย่าให้ถูกยุงลายกัด ทายากันยุงในหญิงตั้งครรภ์ ส่วนสามีก็ต้องป้องกันด้วย ยิ่งหากมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องสวมถุงยางอนามัย เพราะเชื้ออยู่ในอสุจิได้ 6 เดือน
ศ.คลินิก นพ.ชาญชัย วันทนาศิริ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ซิกาเป็นโรคใหม่ ตนเห็นด้วยที่จะมีแนวทางปฏิบัติขึ้นมาสำหรับซิกา จะช่วยให้แพทย์ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น ส่วนคำถามเรื่องการยุติการตั้งครรภ์นั้น ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะ แต่ข้อบังคับของแพทยสภา เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ระบุว่า การจะยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นกรณีที่จำเป็น เนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์อาจพิการ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องอยู่ที่การยินยอมของแม่ที่อุ้มท้องและพ่อด้วย ซึ่งแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจ เพียงแต่แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ส่วนเด็กทารกที่คลอดออกมามีศีรษะเล็กก็ต้องดูแลด้านพัฒนาการ ขณะที่เรื่องของสุขภาพจิตก็ต้องมีด้วย โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู
ผู้สื่อข่าวถามว่า โดยทั่วไปจะตรวจหาความผิดปกติในครรภ์ได้อายุครรภ์เท่าไร ศ.คลินิก นพ.ชาญชัย กล่าวว่า อัลตราซาวนด์ช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไปก็สามารถเห็นความผิดปกติได้ แต่การจะยุติการตั้งครรภ์ต้องพิจารณาหลาย ๆ อย่าง ปัญหาของซิกา คือ ยังไม่มีแนวทางชัด ๆ ว่า แบบไหนควรยุติการตั้งครรภ์ เพราะที่ผ่านมากว่าตรวจพบความผิดปกติของทารกก็อายุครรภ์ประมาณ 24 สัปดาห์แล้ว ซึ่งจะไม่ยุติการตั้งครรภ์ คล้ายกรณีหัดเยอรมันที่ทำให้ทารกมีความพิการได้ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อย่างหากอายุครรภ์ 2 เดือน พบว่า มีเชื้อหัดเยอรมัน แพทย์ก็จะแจ้งว่ามีความเสี่ยงที่ทารกจะพิการได้แต่ไม่ 100% อาจมี 30% ที่ลูกไม่พิการ ก็อยู่ที่พ่อแม่จะรับความเสี่ยงนั้นหรือไม่ กรณีซิกาก็เช่นกัน
นพ.สุธิต คุณประดิษฐ์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม รพ.ลำพูน กล่าวว่า แนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในเรื่องซิกานั้น หากพบว่ามีอาการตามเกณฑ์ของซิกา ก็ต้องตรวจเลือดหาเชื้อไวรัส และประเมินว่า มีความเสี่ยงกับทารกหรือไม่ ส่วนแนวทางที่หากพบว่าเด็กศีรษะเล็กจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ คงต้องให้มีข้อมูลมากกว่านี้ เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะระบุว่า หากเด็กทารกในครรภ์ศีรษะเล็กจะต้องยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งเลยหรือไม่ เนื่องจากเป็นโรคที่เพิ่งพบว่าส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้ศีรษะลีบเล็ก และก็ไม่ได้มีโอกาสเป็นทุกราย ซึ่งแนวทางปฏิบัติสำหรับเรื่องนี้ยังไม่มีออกมา แต่หากมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนก็เป็นเรื่องดี
นพ.สุธิต กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วการยุติการตั้งครรภ์ จะทำก็ต่อเมื่อเกิดผลกระทบต่อทารกที่จะเกิดมาอย่างมาก ที่เป็นแนวทางปฏิบัติสากล อย่างเด็กในครรภ์มีภาวะพิการอย่างรุนแรง เช่น กะโหลกศีรษะปิดไม่มิด ซึ่งคลอดออกมาส่วนใหญ่ก็มักเสียชีวิต หรือเด็กที่มีภาวะธาลัสซีเมียขั้นรุนแรง ซึ่งเมื่อคลอดออกมาเด็กก็มีอายุไม่ยืน อาจอยู่ได้ประมาณ 20 ปี มีภาวะตัวซีด ต้องตัดม้าม และต้องมีการเติมเลือดไปตลอด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ชัดเจนว่าต้องยุติการตั้งครรภ์ โดยช่วงที่เหมาะสมคือ ช่วงที่อายุครรภ์อยู่ระหว่าง 16 - 20 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กในครรภ์ยังไม่โต ก็จะมีการให้ยากระตุ้นการเปิดของปากมดลูก ซึ่งจะต้องใช้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์
“เด็กที่เกิดมาต้องพิการรุนแรง หรือเป็นพาหะธาลัสซีเมียขั้นรุนแรงน้อยลง เพราะมีการตรวจดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ที่ดีขึ้น ซึ่งหากหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ก็จะได้รับการดูแลจากแพทย์ตามที่กำหนด เช่น การอัลตราซาวนด์ช่วงสัปดาห์ที่ 20 ช่วยค้นพบความพิการที่มีผลต่อชีวิตของเด็กได้ หากพ่อแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมียก็จะมีการเจาะเลือดตรวจดูว่าเด็กในครรภ์เป็นพาหะธาลัสซีเมียรุนแรงหรือไม่ สำหรับการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิกา ขณะนี้มองว่าก็ดำเนินไปตามปกติก่อน แม้จะพบว่าเด็กมีศีรษะเล็กก็ต้องดูแลติดตามต่อไปจนกว่าคลอด ไม่ใช่ว่าจะต้องยุติการตั้งครรภ์เลย” นพ.สุธิต กล่าว
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะทำงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ทารกในครรภ์เริ่มมีสมองเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ การตรวจสามารถทำได้ด้วยการอัลตราซาวนด์ ซึ่งโอกาสน้อยที่จะตรวจเจอความผิดปกติของสมองในอายุครรภ์น้อย ๆ ได้ ต้องดูขนาดของสมองร่วมกับการคำนวณทางสถิติต่าง ๆ กว่าจะทราบได้ว่าสมองมีขนาดผิดปกติหรือไม่ ก็เมื่ออายุครรภ์มาก การตรวจสามารถทำได้ด้วยการอัลตราซาวนด์และการเจาะน้ำคร่ำ แต่เสี่ยงที่จะเกิดการแท้งและคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งถือว่าไม่คุ้มเมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์การเกิดภาวะศีรษะเล็กจากเชื้อซิกา ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน บางที่บอกว่าเกิดร้อยละ 1 บางที่บอกว่าร้อยละ 5
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่