นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เปิดเผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด ยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนทั่วโลก และอันดับ 2 ในประเทศไทย โดยในอนาคตมีแนวโน้มผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มมากขึ้น หากดูจากสถิติจะพบว่ามีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั่วโลกมากถึง 17 ล้านคน และคาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 23 ล้านคน ในปี 2030 โดยการแสดงออกของโรคแตกต่างกันไป โรคหัวใจที่พบมากถึง 5 เท่า และนำไปสู่ความพิการและเสียชีวิต โรคหัวใจที่พบได้บ่อย คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก (Atrial Fibrillation) พบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้แรงบีบตัวของหัวใจห้องบนเสียไป เลือดจึงหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนจนก่อให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งสามารถหลุดออกจากหัวใจไปอุดกั้นหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลันได้ อีกทั้งภาวะนี้ยังส่งผลให้หัวใจล่างเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ ทำให้แรงบีบตัวเพื่อสูบฉีดโลหิตลดน้อยลง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป (rate control) หรือควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้กลับมาเต้นปกติ (rhythm control) เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ซึ่งทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตันในอวัยวะสำคัญส่วนอื่นของร่างกายตามมา รวมถึงแนวทางการรักษาอื่น ๆ ที่ได้ผล เช่น การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (cardioversion) ให้กลับเต้นปกติ และการใช้สายสวนหัวใจเพื่อจี้ตัดวงจรไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ซึ่งจะทำให้หัวใจกลับเต้นปกติ
นอกจากนี้ ยังพบคนไทยที่ป่วยด้วย หลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aneurysm) จากสภาวะที่หลอดเลือดขยายใหญ่ขึ้น (โป่งพอง) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการอะไร ยกเว้นในกรณีที่หลอดเลือดแดงที่โป่งพองมีการปริแตก อาจมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หรือปวดในช่องอกได้เฉียบพลัน และมักจะพบร่วมกับอาการช็อกด้วย เนื่องจากมีการเสียเลือดอย่างเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดโป่งพองมีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะคอเรสเตอรอลสูง น้ำหนักเกิน และพันธุกรรมก็อาจเป็นสาเหตุของโรคนี้เช่นกัน แต่สามารถตรวจพบได้ ด้วยเครื่องตรวจคลื่นสะท้อนความถี่สูง หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สำหรับการรักษาอาจมีสองวิธี คือ การผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือดแดง ซึ่งจะตัดหลอดเลือดที่ผิดปกติออกและใส่หลอดเลือดเทียมที่เรียกว่า WOVEN GRAFT แทน วิธีนี้ศัลยแพทย์จำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งแผลผ่าตัดอาจมีขนาดใหญ่ ไม่ว่าเป็นที่ช่องอก หรือช่องท้อง ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยอาจต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ 7- 10 วัน และใช้ระยะเวลาพักฟื้นนาน และการรักษาด้วยขดลวดดามหลอดเลือดจากภายใน หรือที่เรียกว่า ENDOVASCULAR REPAIR เป็นการรักษาจากภายในหลอดเลือดเอง โดยใส่ขดลวดที่หุ้มด้วยใยสังเคราะห์ผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กที่ขาหนีบ ขดลวดดังกล่าวจะถูกใส่ตรงตำแหน่งที่หลอดเลือดโป่งพอง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลผ่านได้ และจะค่อย ๆ ฝ่อไปในที่สุด ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเล็ก และพักฟื้นในโรงพยาบาลไม่นาน ผู้ป่วยสามารถกลับไปมีกิจวัตรตามปกติได้รวดเร็ว
นพ.ประดับ กล่าวเสริมว่า เราหลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจและสามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ เช่น อย่าปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดมาเลี้ยงร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจจะหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น หลอดเลือดตีบแข็งและอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย และนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด การสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2 - 4 เท่า เนื่องจากสารที่อยู่ภายในบุหรี่จะทำให้เซลล์ที่เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสื่อม ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน จะนำไปสู่สภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ระดับไขมันแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงขึ้น ไขมันดังกล่าวจะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น และหลอดเลือดตีบแคบลง เลือดไหลเวียนน้อยลง ในที่สุดหลอดเลือดหัวใจก็อุดตันและเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคเบาหวาน ก็เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจสูงขึ้น เพราะเบาหวานจะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ เสื่อมลง ดังนั้น เพื่อร่างกายที่แข็งแรง ควรออกกำลังกายเป็นประจำช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ และยังสามารถช่วยควบคุมปัจจัยความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิต ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด เบาหวาน และน้ำหนักที่มากเกินไป
สำหรับการดูแลสุขภาพง่าย ๆ เริ่มที่ตัวเรา ตั้งแต่การทานอาหาร Healthy food จำพวกผลไม้ ผักและธัญพืชให้ได้ทุกวัน เพราะอาหารประเภทนี้มีไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุมาก แคลอรี่ต่ำ ช่วยควบคุมน้ำหนัก หรือทานอาหารจำพวกปลาที่มีโอเมกาสูง เช่น ปลาทูน่า จะช่วยลดปริมาณอาหารประเภทไขมันสูง เพราะจะทำให้ไขมันเกาะหลอดเลือดมากขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หรือลดปริมาณเกลือ เราอยากให้ทุกคนหันมาดูแลหัวใจเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอย่างถูกวิธี เพราะหัวใจเปรียบเสมือนพลังของชีวิตที่เป็นแรงขับเคลื่อนและต่อยอดคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
นายจตุพล ชมพูนิช แนะเรื่องการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย ว่า “You are what you need You are what you think You are what you eat การเป็นวิทยากร ในแต่ละครั้งการบรรยายจะใช้เวลานานทั้งวัน ผมจะออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จึงทำให้ไม่เหนื่อยง่าย ร่างกายแข็งแรงและ สิ่งที่สำคัญจะไม่เครียดด้วย” ร่างกายของคนเราควรได้รับการดูแลจากภายในสู่ภายนอก โดยเฉพาะความเครียดเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายเราควรหันมาดูแลสุขภาพ อาทิ การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายของเรานั้นผ่อนคลาย ไม่เหนื่อยง่าย ผมจึงอยากจะแนะนำให้คนทั่วไปควรหันมาใส่ใจและออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรงด หวาน มัน เค็ม การออกกำลังกายแรก ๆ ก็ควรทำแต่ทีละน้อยและค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญ เมื่อร่างกาย จิตใจ และสมองได้ผ่อนคลาย ไม่มีความเครียด ร่างกายก็จะดีตามไปด้วยครับ
เนื่องในวันหัวใจโลก “World Heart Day 2016” โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เชิญรณรงค์ร่วมกันสำรวจหัวใจ ดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงในงาน “Master Heart Care Station” สถานีเติมพลังพร้อมดูแลหัวใจอย่างมืออาชีพ เพื่อขับเคลื่อนสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ พบกับนิทรรศการให้ความรู้ด้านสุขภาพหัวใจ อาทิ Power your life เพราะหัวใจคือพลังของชีวิต Fuel your heart เรียนรู้เรื่องหัวใจ และอาหารที่ช่วยเพิ่มพลังหัวใจ Move your heart หยุดทุกความเสี่ยง เพื่อเสริมแรงขับเคลื่อนให้หัวใจ Love your heart รักหัวใจ รู้ทันโรค เพื่อป้องกันและรักษา ณ โถงชั้น 1 โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมรับคำปรึกษาทางการแพทย์เมื่อมาตรวจเพื่อเลือกแพคเกจตรวจสุขภาพหัวใจ Heart Check - up Package ได้ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ในระหว่างวันที่ 20 - 30 กันยายน 2559 เวลา 08.30 - 16.00 น.
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่