โดย..พล.อ.นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า
ในปัจจุบันมนุษย์เราทุกคนทราบกันดีว่ามีโรคชนิดต่างๆ เกิดขึ้นหลายโรค และสาเหตุส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นผลมาจากพฤติกรรมการหรือการกระทำของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในสังคม การทำงานหนักจนเกิดความเครียด การเลือกที่จะรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารเร่งด่วน อาหารไม่ครบทุกหมวดหมู่ อาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเพื่อชดเชยกับความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะในกลุ่มของโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
โรคหัวใจ เป็นโรคที่มีความหมายกว้างมาก และอาการเจ็บป่วยของโรคหัวใจนั้น ก็จะอาจจะเกิดจากการเจ็บป่วยของโรคอื่นก็เป็นได้ ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น หมายถึงกลุ่มโรคที่มีผลต่อระบบหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจล้มเหลว โรคหัวใจอักเสบ โคนลิ้นหัวใจรั่ว โรคหัวใจรูมาติก เป็นต้น
โรคหัวใจเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบมากและเป็นอันตรายที่สุดคือ อาการหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่นำไปสู่อาการหัวใจวาย (Heart Attack) ซึ่งแต่เดิมการแพทย์เชื่อว่า เกิดจากการสะสมของไขมันผนังหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน แต่ในปัจจุบัน (Heart Attack) ที่พบบ่อยมักเกิดจากผนังหลอดเลือดด้านในแตกจนเกิดการสะสมของลิ่มเลือดและนำไปสู่การอุดตันของเส้นเลือดแบบเฉียบพลัน ซึ่งการแตกของผนังหลอดเลือดด้านในนี้ เกิดจากภาวะ การอักเสบ (Inflammation) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากอารมณ์แปรปรวน อาหาร อนุมูลอิสระ ตลอดจนถึง ภาวะความร้อนภายในร่างกาย การทำงานของฮอร์โมน การทำงานของประสาทอัตโนมัติ
การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้นควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ตัวเราเองก็สามารถสังเกตอาการบางอย่างเพื่อสันนิษฐานเบื้องต้นได้เช่นกัน คือ เป็นโรคอ้วน เครียดมากจนเกินไป มีอาการใจร้อน อารมณ์ร้อน รวมถึงภาวะอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง สูบบุหรี่ เป็นต้น ส่วนระยะเวลาของการแสงอาการนั้น จะแสดงออกในระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น วิ่ง เดินขึ้นบันได หรือเมื่อโกรธ จะรู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจขาดเลือด จะแตกต่างจากการเจ็บแบบอื่น โดยจะเจ็บแน่นๆ บริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือสองด้าน บางรายจะเจ็บร้าวไปที่แขนซ้าย หรือมีอาการปวดไปถึงกรามคล้ายเจ็บฟัน แม้จะหยุดออกกำลังกายแล้วก็จะยังเจ็บอยู่
นอกจากนี้ยังมีอาการหอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ ใจสั่น ขาบวม อาจจะเป็นลม หรือมีอาการวูบร่วมด้วย การดูแลป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด นั้นป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น อาหาร อารมณ์ การออกกำลังกาย เป็นต้น
ความจริงการรับประทานเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นกลไกตามธรรมชาติ เป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ ถ้าทุกคนดูแลรักษาตนอย่างดี ควบคุมอารมณ์ไม่ให้เครียดจนเกินไป ทานอาหารแต่พอควร เลือกอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอและพอดี โอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจและโรคกลุ่มนี้ก็จะน้อยลง วิธีนี้เป็นการป้องกันตนเองก่อนที่จะเกิดโรค แต่ถ้าหากเกิดโรคขึ้นมาแล้วการรับประทานยาเป็นประจำ การผ่าตัด การทำบอลลูนขยายเส้นเลือดที่ตีบ นั้นเป็นแค่การรักษาตามอาการเท่านั้นไม่ได้ทำให้หายขาดจากโรคนี้ได้เลย การแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขแค่เพียงส่วนเล็กน้อยตรงบริเวณที่เส้นเลือดผิดปกติที่ยาวเพียงไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้นไม่ได้แก้ไขส่วนอื่นของเส้นเลือดที่ยาวมากมายที่มีอยู่ทั่วตัวเรา
ถ้ามนุษย์เรายังคงดำเนินหรือมีพฤติกรรมการการดำรงชีวิตเหมือนเดิมก็อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดโรค เมื่อเกิดภาวะบ่งชี้ของการเกิดโรค เช่น เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก ใจสั่น ขาบวม ให้สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นโรคหัวใจ และพาคนป่วยพบแพทย์ทันที ยิ่งถึงมือแพทย์เร็วเท่าไร โอกาสที่แพทย์จะแก้ไขเส้นเลือดอุดตันให้เลือดไหลเวียนก็จะทำให้ได้อย่างเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ก่อนเราเชื่อว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจทำอะไรไม่ได้อีก แต่ปัจจุบันความเชื่อนั้นเปลี่ยนไป คนผ่าตัดหัวใจแล้ว ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ สามารถออกกำลังกายได้ไม่แพ้คนปกติ บางคนแข็งแรงสามารถเล่นกีฬาได้เหมือนนักกีฬาอาชีพ แต่การในการฟื้นฟูร่างกายนั้น คนไข้ควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจ ซึ่งจะทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้
ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตให้ถูกต้องทานยาอย่างประจำสม่ำเสมอ การควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ ทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ป่วยนั้นต้องกระทำต่อเนื่องและตลอดไป หลังจากการเกิดโรคและได้รับการรักษาแก้ไขเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำขึ้นอีก ขบวนการนี้โดยรวมคือการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจโดยเริ่มจากการชะลอความเสื่อม การดูแลก่อนการเกิดโรคหรือการป้องกันการเกิดโรค
การดูแลขณะเป็นโรคพร้อมช่วยแก้ไขสมรรถภาพร่างกายที่ผิดปกติขณะเป็นโรคให้กลับสู่สภาพเดิม การดำรงพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ดีต่อเนื่องเป็นประจำหลังการรักษาหายจากโรค เพื่อป้องกันการกลับมาของโรคเดิม ดังนั้นทุกคนต้องเริ่มดูแลสุขภาพฟื้นฟูร่างกายชะลอความเสื่อมของหัวใจป้องกันการเกิดโรคหัวใจและกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (คงสภาพความหนุ่มสาว) กันตั้งแต่วันนี้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่