xs
xsm
sm
md
lg

อาการปวดหลังแบบไหนควรพบแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปกติแล้วอาการปวดหลังที่พบบ่อยมักเกิดจากการทำงานและหายได้เองเมื่อหยุดพัก บีบนวด หรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ซึ่งการปวดหลังเกิดขึ้นได้จากหลายอย่าง และมีอาการแสดงที่แตกต่างกัน

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการปวดหลังเกิดจากหลายสาเหตุ คือ 1. เกิดจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ คือ การใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นนาน ๆ ซ้ำ ๆ เช่น นั่งในท่าเดิมนาน ก้มเงยบ่อย ๆ ทำงานหรือเล่นกีฬาที่ต้องเอี้ยวตัวซ้ำ ๆ อาการปวดจะเกิดขึ้นขณะที่มีการเคลื่อนไหวใช้กล้ามเนื้อมัดนั้น และจะดีขึ้นเมื่อได้พัก

2. เกิดจากข้อต่ออักเสบ จากการใช้ข้อต่อซ้ำ ๆ เช่น ก้มเงย บิดตัวไปมา อาการปวดจะเกิดหลังจากได้พักแล้วเริ่มเคลื่อนไหวข้อต่อนั้น พอเคลื่อนไหวสักครู่จะปวดน้อยลง

3. เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จากการแบก หรือยกของหนักผิดท่า อาการปวดหลัง จะเกิดขึ้นทันทีขณะที่ก้มยกของ ต่อมาจะเริ่มปวดร้าวไปที่ขา ปวดมากขึ้นเมื่อเดินและดีขึ้นเมื่อได้นอนพัก ถ้าเส้นประสาทถูกกดทับหรืออักเสบนาน ๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรงหรือชา

4. เกิดจากกระดูกสันหลังเสื่อม ทั้งนี้ เมื่ออายุมากขึ้นข้อต่อกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกเสื่อมทรุดลง ทำให้กระดูกผิดรูป หรือเคลื่อนตัวทำงานผิดปกติ อาจจะกดเส้นประสาททำให้ปวดหลังร้าวไปขาได้ มักมีอาการปวดมากขึ้นถ้าต้องเดินไกล ๆ เวลาเดินก้มตัวเล็กน้อยอาจช่วยให้ปวดน้อยลง

และ 5. เกิดจากเนื้องอกที่กระดูกสันหลัง เนื้องอกอาจกินกระดูกสันหลังทำให้ปวดกระดูก หรืออาจกดทับเส้นประสาททำให้ปวดร้าวไปที่ขา ขาชา หรืออ่อนแรง มักมีอาการขณะนอน เมื่อยืนและเดินจะดีขึ้น ติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง จะทำให้มีอาการปวดหลังและอาจปวดร้าวไปที่ขาหรือขาอ่อนแรง กระดูกสันหลังอาจโก่งงอ ถ้าเคาะกระดูกจะรู้สึกเจ็บ

แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเมื่อมีอาการปวดหลังแบบใดควรจะต้องรีบไปพบแพทย์ เรื่องนี้ นพ.สุพรรณ กล่าวว่า การปวดหลังส่วนใหญ่มักเกิดจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้ออักเสบ ข้อต่อ หมอนรองกระดูก ตัวกระดูก หรือเส้นประสาทมีความผิดปกติ แต่ถ้าปวดหลังร่วมกับอาการชาบริเวณเท้า นิ้วเท้าอ่อนแรงกระดกไม่ขึ้น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลังมานาน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัสสาวะขุ่น หรือ มีเม็ดกรวด เม็ดทรายออกมาทางปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ ปวดหลังแล้วมีอาการผิดรูปร่าง กระดูกสันหลังโก่งงอ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนอันตราย ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องต่อไป

“หากนั่งทำงานวันละ 8 ชั่วโมงติดต่อกัน หรือเดินทั้งวันแล้วเกิดอาการปวดหลังคงไม่ใช่เรื่องแปลก ควรหาโอกาสปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงกระดูกสันหลังให้แข็งแรง ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายให้ถูกวิธี สำหรับผู้สูงอายุควรออกกำลังกายช้า ๆ โดยไม่กระทบกระเทือนข้อต่อต่าง ๆ เช่น กายบริหาร รำมวยจีน ว่ายน้ำ หลีกเลี่ยงการก้มยกของหนัก การเคลื่อนย้ายของควรใช้วิธีการดันดีกว่าดึง จะช่วยป้องกันและบรรเทาจากอาการปวดหลังได้” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น