สธ. เตือนเชียร์ “โอลิมปิก” แค่พอเหมาะ เผื่อใจ “แพ้ - ชนะ” ช่วยควบคุมอารมณ์ ป้องกันหัวใจทำงานหนัก ชี้ คนไม่รู้ตัวเสี่ยงโรคหัวใจหรือไม่ ยิ่งเชียร์ยิ่งตื่นเต้นทำมีสิทธิหัวใจวาย แนะตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ หากเสี่ยงอย่าลุ้นกีฬาหนัก
จากกรณี นางสุบิน คงทัพ อายุ 82 ปี คุณยายของ นายสินธุ์เพชร กรวยทอง นักกีฬายกน้ำหนักชายทีมชาติไทย ในการแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล ลุ้นการแข่งขันของหลานชายจนเกิดช็อกหมดสติ จนญาติต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในที่สุด
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ตนไม่ทราบว่ากรณีดังกล่าวเป็นการหัวใจวาย เพราะการเชียร์กีฬาโอลิมปิกหรือไม่ หรือเป็นเหตุที่ประจวบพอดีกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การดูกีฬาหรือเชียร์อะไรอยากให้คิดเผื่อใจเอาไว้บ้าง เพราะอาจไม่ได้เป็นอย่างใจเราก็ได้ ขอให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อมีการแบ่งใจเอาไว้แล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาแพ้หรือชนะ ก็จะได้สามารถควบคุม หรือปรับอารมณ์ตัวเองได้ เพราะไม่ว่าจะเสียใจหรือดีใจจนเกินไปนั้นล้วนแต่มีผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า การเชียร์กีฬาก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ทำให้หัวใจทำงานหนัก เพราะการเชียร์ทำให้เกิดความตื่นเต้น ดังนั้น ใครที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจจึงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว โรคหัวใจ หากตื่นเต้นมาก ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะฉะนั้นหากอยากรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ ทางกรมควบคุมโรค (คร.) และโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็มีโปรแกรมประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจว่ามีโอกาสเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อรุ้ตัวว่ามีความเสี่ยงก็จะรู้จักป้องกันตัวเอง ไม่กล้าลุ้นมาก อย่างบางคนรู้ตัวว่ามีโอกาสเสี่ยง เมื่อเชียร์กีฬา ตื่นเต้นมาก ๆ จนใจสั่นก็อาจจะหยุดเชียร์ ไปปรับอารมณ์ตนเองแล้วรอฟังผลภายหลังการแข่งขันก็ได้ ดีกว่าเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งประเด็นสำคัญคือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ เมื่อเชียร์หรือลุ้นจนเกินไปจึงทำให้หัวใจผิดปกติได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่