xs
xsm
sm
md
lg

ติด GPS รถพยาบาล สธ. คุมความเร็วรถไม่เกิน 80 กม./ชม. ลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. ลงนามร่วมอธิบดีกรมขนส่งทางบก ติดตั้งจีพีเอสรถพยาบาล สธ. ตั้งเป้าปี 60 ให้ได้ 5 - 6 พันคัน หวังช่วยติดตามความเร็วรถพยาบาลไม่เกิน 80 กม. ต่อชม. ตำแหน่ง พฤติกรรมการขับรถ หวังเพิ่มความปลอดภัยผู้ป่วย ญาติ บุคลากรทางการแพทย์

วันนี้ (4 ส.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ลงนามความร่วมมือติดระบบติดตามรถผ่านดาวเทียม (GPS) โดย นพ.โสภณ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยกันดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย โดยเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระบบแสดงพิกัด และความเร็วของรถพยาบาลเข้ากับศูนย์บริการจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมขนส่งทางบก ให้สามารถดูพิกัด การเคลื่อนที่ และความเร็วของรถพยาบาลได้ทันทีแบบ Real time ซึ่งการดึงระบบนี้เข้ามาใช้ ถือเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการขับรถให้ปลอดภัย เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ญาติผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่บนรถพยาบาลระหว่างปฏิบัติหน้าที่

“สธ. ได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถพยาบาล อาทิ จะต้องขับรถที่ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถพยาบาลทุกคันจะต้องสร้างตัวถังรถที่แข็งแรง ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยตามเกณฑ์ เช่น เข็มขัดประจำที่นั่งของญาติผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ ติดตั้ง GPS เพื่อติดตามตำแหน่ง ควบคุมความเร็วด้วยระบบสื่อสารสัญญาณภาพผ่านกล้อง (CCTV) ในการติดตามพฤติกรรมการขับรถ และอาการผู้ป่วยเพื่อช่วยเตรียมการรักษา” ปลัด สธ. กล่าวและว่า การจำกัดความเร็วที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะปลอดภัยกับผู้ป่วย และบุคลากรสาธารณสุข มากกว่าการขับด้วยความเร็วที่มากกว่านี้ ส่วนเรื่องของการดูแลผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยจะมีความปลอดภัยอยู่แล้วเมื่ออยู่บนรถพยาบาล เนื่องจากในรถพยาบาล จะมีอุปกรณ์กู้ชีพและช่วยชีวิตผู้ป่วยครบอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้

นพ.โสภณ กล่าวว่า ตั้งเป้าว่าจะติดตั้งระบบกับรถพยาบาลของ สธ. ให้ได้ทั้งสิ้นจำนวน 5 - 6 พันคัน ภายในปี 2560 ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งนั้น ไม่ได้มีราคาสูงจะจ่ายเป็นรายเดือน อยู่ที่เดือนละประมาณ 300 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของการติดตั้งนั้น ขณะนี้มีการติดตั้งเสร็จแล้วจำนวน 165 คัน ใน 19 จังหวัด อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลของ สธ. ตั้งแต่เดือน ม.ค.2558 - ก.ค.2559 พบว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น 60 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บ 114 คน

ด้าน นายสนิท กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามวาระชาติเซฟตีไทยแลนด์ หรือนโยบายเรื่องความปลอดภัยที่ทุกหน่วยงาน และทุกคนจะต้องร่วมมือกัน และการที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางบก และ สธ. ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ลงตัว เพราะทั้ง 2 หน่วยงานมีเครือข่ายในทุกจังหวัดเหมือนกันจึงสะดวกในการทำงาน นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการต่อยอดและเชื่อมโยงความร่วมมือกันเพิ่มขึ้น โดยอาจมีการประสานกับกรมการขนส่งในแต่ละจังหวัด ให้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวก กรณีเกิดอุบัติเหตุ ก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยเปิดทางเพื่อให้การขนย้ายผู้ป่วยทำได้เร็วยิ่งขึ้น





ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น