xs
xsm
sm
md
lg

ว.วชิรเมธี ห่วงเขียนเหน็บผ่านโซเชียลระวังเดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ห่วงสื่อสารผ่านโซเชียลทำภาษาไทยเสีย - คนขาดปฏิสัมพันธ์ ท่าน ว.วชิรเมธี เตือนการเขียนเหน็บแหนมอาจสร้างความเดือดร้อน

วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2559 พร้อมมอบรางวัลให้กับบุคคลด้านภาษาไทย โดย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติ และเป็นภาษาที่มีความงดงาม แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ภาษาก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามพลวัต ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน เห็นได้ชัดเจน ก็คือ ภาษาโซเชียลที่ได้บัญญัติขึ้นใหม่ เป็นศัพท์ใหม่ คำใหม่ หรือ การจำกัดความที่นำมาใช้เฉพาะกลุ่ม แต่ที่สำคัญ วธ. ขอให้คนไทยทุกคน ร่วมกันพิจารณาและดูแล การนำมาใช้ให้ถูกกาลเทศะ ถูกกับบุคคล สถานที่และเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ขอให้มีการรักษาการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องด้วย เพื่อร่วมสืบสานมรดกอันล้ำค่าของชาติให้คงไว้ต่อไป

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษผู้ประพันธ์เพลงส่งเสริมพระพุทธศาสนา จากบทเพลงในโครงการสามเณรปลูกปัญญา กล่าวว่า อยากฝากให้คนไทยโดยเฉพาะวัยรุ่น รักและใช้ภาษาไทยให้เป็น ที่สำคัญ ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้ภาษาสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะบางครั้งอาจทำร้ายความรู้สึกคนอื่น และก่อให้เกิดกระแสดรามาได้ ทั้งที่สถานการณ์จริงเป็นคนละเรื่อง ดังนั้น ก่อนใช้ภาษาวิพากษ์วิจารณ์ หรือเหน็บแนมใคร จงหาความรู้. คิด ก่อนจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนได้

น.ส.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ ผู้ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาษามีการเปลี่ยนไป ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาที่เกิดจากการพิมพ์ผ่านมือถือ ที่มักจะมีการพิมพ์เป็นคำย่อ คำสั้น และเป็นคำที่สื่อความหมายเข้าใจกันได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะมีประโยชน์ต่อการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ แต่ก็กังวลว่าจะส่งผลเสียต่อการจดจำ และใช้คำที่ถูกต้อง และใช้ภาษาสื่อความหมายที่ผิดพลาดได้ง่าย อีกทั้ง การใช้สื่อโซเชียล จะยิ่งทำให้คนใกล้ตัวห่างไกลกัน จนขาดการปฏิสัมพันธ์ทางการสื่อสารทางกายโดยสิ้นเชิง ทั้งยังส่งผลทำให้ขาดความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากคนในครอบครัว ที่นับวันจะยิ่งห่างกันไป เพราะเมื่อเข้าบ้านแล้วก็หยิบโทรศัพท์มาพิมพ์คุยกันกับคนข้างนอก ไม่มองหน้าแม้คนในบ้าน หรือคุยกีบคนในบ้าน

ถ้าหากเราแบ่งเวลาของการสื่อสาร จากที่มีการใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์ทั้งวัน เป็นการหันมาพูดคุยกับผู้อื่นให้มากขึ้น ก็จะทำให้การสื่อสารทางภาษาผิดเพี้ยนน้อยลง และยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้ทางภาษาระหว่างกันมากขึ้น สำหรับการปลูกฝังการใช้ภาษาที่ถูกต้อง คงต้องเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่จะรับหน้าที่หลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และไม่เห็นว่าเรื่องการใช้คำผิด ภาษาผิดเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะจะทำให้ความเข้าใจเหล่านี้บานปลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น