xs
xsm
sm
md
lg

ไอคิวเด็ก ป.1 ไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่า 100 ชี้ ปล่อยลูกเล่นสมาร์ทโฟนทำไอคิวเด็กในเมืองไม่เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำรวจไอคิวเด็กไทยชั้น ป.1 พบเพิ่มขึ้น 4 จุด เป็น 98.2 แต่ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เด็กเมืองไอคิวเกิน 100 แต่ไม่เพิ่มขึ้น เหตุใช้แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ทำขาดพัฒนาการความคิด ส่วนเด็กภาคอีสาน ใต้ เจอปัญหาระดับสติปัญญาบกพร่อง เผย 7 จังหวัด เด็กไอคิวลดลง 

วันนี้ (29 ก.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวผลสำรวจไอคิวและอีคิวในเด็กไทย ป.1 ปี 2559 ว่า กรมสุขภาพจิตได้สำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (ไอคิว) และระดับความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ประจำปี 2559 ในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ 23,644 คน พบว่า มีคะแนนไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 94 แต่ก็ยังว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล คือ 100 โดยจำนวนนี้มีไอคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 68 โดยรวมพบว่าเด็กที่มีไอคิวสูงเกิน 100 จุดขึ้นไปนั้น มีอยู่ 42 จังหวัด ซึ่งเด็กในเขตอำเภอเมือง มีไอคิว 101.5 นอกเขตอำเภอเมือง ไอคิวเฉลี่ย 96.9 เฉพาะในพื้นที่ กทม. มีไอคิวเฉลี่ย 103.4 อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กนักเรียนในอีก 35 จังหวัด ที่ไอคิวอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และเด็กที่มีระดับสติปัญญาบกพร่อง หรือต่ำกว่า 70 ร้อยละ 5.8 ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานสากลกำหนดว่า ไม่เกินร้อยละ 2 ส่วนมากเป็นเด็กที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดาร และฐานะไม่ค่อยดี ส่วนผลการสำรวจอีคิว พบว่า เป็นไปตามเป้าหมายร้อยละ 77 แต่ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาในด้านการขาดความมุ่งมั่นพยายาม และขาดทักษะในการแก้ปัญหา

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า การที่ไอคิวเด็กไทยเพิ่มขึ้นถึง 4 จุด เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในไทยพบว่าจังหวัดที่ระดับไอคิวดีดตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ กระบี่ เพราะมีการทำเป็นนโยบายระดับจังหวัดในการดูแลแม่และเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพศูนย์เด็กเล็ก อย่างไรก็ตาม อีกปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ในเขตเมืองที่ควรมีระดับไอคิวสูงกว่า 100 จุด แต่ระดับไอคิวกลับหยุดนิ่ง ซึ่งเป็นเพราะมีการใช้แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน มากเกินไป ทำให้เด็กขาดพัฒนาการทางด้านความคิด และการสื่อสาร สมาธิสั้น เพราะการเล่นเกมหรือใช้โปรแกรมต่าง ๆ นั้น มีแต่สิ่งเร้า แสง สีเสียง ทำให้ขาดสมาธิ ดังนั้น เด็ก 0 - 3 ขวบ ไม่ควรใช้อุปกรณ์เหล่านี้เลย แม้กระทั่งเด็ก ป.1 ก็ไม่อยากให้ใช้ แต่ถ้าจะให้ใช้พ่อ แม่ต้องมั่นใจว่าดูแลได้ โดยการเอาเด็กมานั่งตักและเล่นไปพร้อมกัน ชี้ชวน และอธิบายให้เด็กฟัง

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมฯ มุ่งเน้นพัฒนาระดับไอคิว อีคิวเด็ก ใน 3 ประเด็น คือ 1. ส่งเสริมพัฒนาการในสถานบริการกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดจากครอบครัวยากจน ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่น 2. เตรียมความพร้อมเด็กวัยก่อนเข้าเรียน โดยสนับสนุนเครื่องมือกระตุ้นพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้าน และ 3. ให้ครูเป็นผู้คัดกรองเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น ออทิสติก ปัญหาทางด้านอารมณ์ และส่งต่อเข้าระบบการดูแลรักษาต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า เด็ก ป.1 ประสบปัญหาเหล่านี้ถึงร้อยละ 15 นอกจากนี้ กรมยังเร่งพัฒนาพยาบาลจิตเวช เพื่อไปประจำที่โรงพยาบาลชุมชนให้ครบทุกแห่ง

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหา 2 ส่วน ที่มีผลกระทบต่อระดับไอคิวของเด็ก คือ 1. ภาวะขาดสารอาหารในแม่และเด็กระหว่างตั้งครรภ์ ขณะนี้กระทรวงกำลังสนับสนุนให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ได้รับไอโอดีน และธาตุเหล็กที่เพียงพอ ป้องกันปัญหาซีด ส่วนหญิงตั้งครรภ์จะได้รับวิตามีนรวมไอโอดีน เหล็ก และโฟเลตฟรี เพื่อป้องกันปัญหาทารกพิการแต่กำเนิดด้วย 2. การเจริญเติบโตทางด้านร่างกายไม่สมวัย โดยเฉพาะช่วงขวบปีแรก และ 5 ขวบปีแรก ให้ดื่มนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก และการได้รับสารอาหารต่าง ๆ ที่เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตดีสมวัย ทั้งนี้ มีการศึกษาพบว่า ภาวะอ้วน เตี้ย ในขวบปีแรกนั้น มีส่วนมีส่วนทำให้เด็กไอคิวต่ำ ถ้าสูงดีสมส่วนก็จะมีระดับไอคิวสูงขึ้นตามด้วย ซึ่งขณะนี้กรมอนามัยได้จัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพเด็กไทยเริ่มตั้งแต่ครรภ์มารดา จนถึงอายุ 18 ปี ให้ผู้ชายสูงเฉลี่ย 180 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 170 เซนติเมตร ซึ่งจะเข้า ครม. ในเร็ว ๆ นี้ คาดว่า ในปี 2564 แนวโน้มพัฒนาการเด็กจะดีขึ้นกว่านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดที่ระดับไอคิวลดลงจากปี 2554 คือ อุบลราชธานี ระยอง ราชบุรี ลพบุรี หนองคาย บึงกาฬ และ ลำปาง ที่เหลือมีระดับไอคิวเพิ่มขึ้น หรือคงที่

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น