xs
xsm
sm
md
lg

สร้างคนป้อนตลาดแรงงานต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย (2) / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ระยะหลังคุยเล่นกับเพื่อน และคุยไม่เล่นกับบรรดานักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องอาชีพในอนาคต ว่า จะมีอาชีพใดบ้างหนอที่จะหายไปในตลาดแรงงานบ้านเรา และอาชีพอะไรที่จะมาแรงในอนาคต เพราะในแต่ละยุคสมัยความต้องการตลาดแรงงานก็ผันแปรไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงยุคสมัย ยิ่งเข้าสู่ยุคดิจิตอล ก็ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานอย่างมาก

ในอดีตเวลาเราพูดถึงเรื่องอาชีพก็มีไม่กี่อาชีพ และความใฝ่ฝันของเด็กส่วนใหญ่ก็จะมีอาชีพไม่กี่อย่างที่เด็กอยากเป็น แต่เดี๋ยวนี้ต้องยอมรับว่าความใฝ่ฝันของเด็กยุคนี้ต่ออาชีพในอนาคตก็มีความแตกต่างและหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ถึงขนาดบางทีเรายังคิดไม่ถึงว่ามีอาชีพอย่างนี้ด้วยหรือ

ขณะที่บางอาชีพก็รู้สึกใจหายเมื่อคิดว่ามันอาจจะต้องหายไปเมื่อถูกโลกเทคโนโลยีเข้ามายึดครอง

แม้กระทั่งสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดิฉันคลุกคลีมาโดยตลอด ก็กำลังถูกสื่อดิจิตอลเข้ามาแทนที่ทุกขณะ จึงต้องทำให้มีการรับมือ และพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และให้สอดรับเท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
และเพื่อให้ต่อเนื่องจากบทความตอนที่แล้ว ที่ดิฉันได้ไปร่วมงานที่จังหวัดมหาสารคาม ในโอกาสที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบายมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 24 แห่ง ในจังหวัดมหาสารคาม และ กาฬสินธุ์ ร่วมกันจัดงานเพื่อยกระดับการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนยากจนในพื้นที่ชนบทอย่างสมวัย ในโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ จึงขอนำเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดแรงงานในบ้านเรา และตลาดแรงงานโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จำเป็นที่ผู้คนในยุคนี้ต้องรับรู้และรับมือให้ทันท่วงที

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวในงานเสวนาในวันนั้นถึง ผลสำรวจของเวิล์ด อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum 2016) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลก คือ การเตรียมความพร้อมกำลังคนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรองรับความท้าทายจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของโลกครั้งสำคัญ
ทักษะที่จำเป็นและสำคัญในตลาดแรงงาน คือ ทักษะด้านพฤติกรรม (Non-cognitive Skills) เช่น ความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ กำลังเป็นทักษะที่ตลาดแรงงานตัองการอย่างสูงในตลาดแรงงานในปี 2020 ซึ่งทักษะเหล่านี้ควรได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของเจมส์ เจ เฮ็กแมน (James J Heckman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้ศึกษาการใช้กระบวนการไฮสโคปเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กในระดับปฐมวัย ซึ่งระบุว่าการลงทุนใน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์คืนกลับต่อผู้เข้าร่วมโครงการและสังคมประมาณ 7 - 12 บาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะจะส่งผลให้เด็กประสบความสำเร็จ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการศึกษา 2) ด้านพฤติกรรมเชิงบวก 3) ด้านสุขภาวะที่ดี และ 4) ด้านความสำเร็จในอาชีพ
ดังนั้นการลงทุนในช่วงปฐมวัยจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสอดรับกับทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการในโลกอนาคต

ดร.ไกรยศ เล่าให้ฟังว่า ตลาดแรงงานอาจเปลี่ยนแปลงถึง 65% อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเอกสารก็ค่อย ๆ หายไป เพราะจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลต่าง ๆ ฉะนั้น สังคมรุ่นนี้ต้องคำนึงถึงการสร้างทรัพยากรมนุษย์ในยุคหน้าให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงานในอนาคตด้วย

ทักษะแรงงานที่นายจ้างต้องการสูงที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2020 ได้แก่ ทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน, การคิดวิเคราะห์, ความคิดสร้างสรรค์, การจัดการบุคคล, การทำงานร่วมกัน, ความฉลาดทางอารมณ์, รู้จักประเมินและการตัดสินใจ, มีใจรักบริการ, การเจรจาต่อรอง และความยืดหยุ่นทางความคิด

นี่ยังไม่นับรวมแรงงานต่างด้าว และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นตัวแปรและอุปสรรคสำคัญต่อแรงงานไทยอีกต่างหาก

ถึงเวลาแล้วที่บ้านเราควรให้ความสำคัญกับการสร้างคนอย่างจริงจังแล้วล่ะค่ะ แล้วต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงวัยที่สมองเติบโตได้สูงสุดในช่วงชีวิตมนุษย์ ทำให้เราสามารถปลูกฝังทักษะที่ดีให้เด็กได้

อย่าลืมว่าสร้างคนวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าได้วันนี้ แต่เป็นการสร้างคนเพื่ออนาคต

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น