กรมการแพทย์เตรียมร่วมทุนภาคเอกชน สร้างศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ขนาด 250 - 300 เตียง มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท หวังเพิ่มการเข้าถึงบริการโรคเฉพาะทาง ทั้งมะเร็ง โรคทรวงอก โรคระบบประสาท และดวงตา ช่วยลดความแออัด รพ. รัฐ เพิ่มความสะดวกสบาย เผย อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ แหล่งทุน และ สถานที่ตั้ง
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการจัดตั้งโครงการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางกรมการแพทย์ (DMS Medical Complex) ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนแบบความร่วมมือภาครัฐและเอกชน (Public Private partnership : PPP) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เฉพาะทางมากขึ้นของประชาชนในหลาย ๆ กลุ่ม ซึ่งขณะนี้กำลังดูความเป็นไปได้อยู่ อย่างไรก็ตาม โครงการลักษณะเช่นนี้ มีการนำร่องแล้วที่ รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จ.นครปฐม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดี ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การสร้างศูนย์การแพทย์เฉพาะทางกรมการแพทย์ ตั้งเป้าว่า จะเป็นโรงพยาบาลขนาด 250 - 300 เตียง มูลค่าโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ส่วนบุคลากรในการดำเนินงาน จะเป็นของกรมการแพทย์ ประกอบด้วย ศูนย์ความเชี่ยวชาญทุกสาขาของกรมการแพทย์ เช่น โรคมะเร็ง โรคระบบประสาท โรคทรวงอก และ ดวงตา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการดำเนินงานของศูนย์ และความเป็นไปได้ของโครงการ โดยมีการทำแบบจำลองสถานการณ์ร่วมกับบริษัทเอกชน และได้รับการสนับสนุนทุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงานโรงพยาบาลที่มีลักษณะการดำเนินงานคล้ายกัน คือ สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ โรงพยาบาลศิริราชปิยะมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) พร้อมกับรวบรวมข้อมูลจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหาข้อมูลแหล่งทุน
“สำหรับสถานที่ในการจัดทำโครงการก็อยู่ระหว่างการจัดหาเช่นกัน ที่กำลังอยู่ในการพิจารณา คือ ที่ดินรถไฟบางซื่อ ที่ดินบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริเวณงามวงศ์วาน และที่ดินของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์เฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดความแออัดในการใช้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ที่ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. และมีผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน สถาบันประสาทวิทยา เป็นต้น ที่สำคัญ ยังเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ป่วยด้วยบริการรูปแบคลินิกพิเศษ” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่