xs
xsm
sm
md
lg

7 สาเหตุทำ “ผมร่วง” ศีรษะล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการแพทย์เปิด 7 สาเหตุหลักทำ “ผมร่วง” ศีรษะล้าน ชี้ร่วงเกินวันละ 50 เส้น ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหาสาเหตุ

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โดยปกติผมของคนเรามีประมาณ 80,000 - 1,200,000 เส้น งอกยาวขึ้นประมาณวันละ 0.35 มิลลิเมตร และมีอายุนาน 2 - 6 ปี ซึ่งปกติจะมีผมร่วงเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เกินวันละ 30 - 50 เส้น ถ้ามากกว่านี้อาจมีความผิดปกติ สาเหตุหลัก ๆ มจาก 1. ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ชายมากกว่า เนื่องจากรากผมมีความไวต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย ทำให้เส้นผมมีอายุสั้นกว่าปกติ และเส้นผมที่เกิดใหม่มีขนาดเล็กและบางลง ส่วนมากจะเป็นบริเวณกลางศีรษะและหน้าผากเริ่มสังเกตได้เมื่อมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป

“ส่วนผู้หญิงมักแสดงอาการหลังวัยหมดประจำเดือน ผมร่วงเนื่องจากผมหยุดเจริญชั่วคราว ในแต่ละวันจะมีเส้นผมประมาณ 10 - 15% ที่หยุดเจริญและหลุดร่วงไป แต่ในบางภาวะเส้นผมที่กำลังเจริญอาจหยุดการเจริญในทันที ทำให้มีเส้นผมเสื่อมและหลุดร่วงเพิ่มจำนวนมากกว่าปกติ เช่น ผู้หญิงหลังคลอด ทารกแรกเกิด หลังจากเป็นไข้สูง ได้รับการผ่าตัดใหญ่ เจ็บป่วยเรื้อรัง การเสียเลือด การบริจาคเลือด การใช้ยาบางชนิด และภาวะเครียดทางจิตใจ ผมร่วงชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นใน 1 - 3 เดือน หลังจากนั้นจะหยุดร่วงและงอกขึ้นใหม่ตามปกติ” นพ.สุพรรณ กล่าว

2. ผมร่วงเป็นหย่อม เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จะมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ในรูปแบบกลม หรือ รี มีขอบเขตชัดเจน ตรงกลางไม่มีเส้นผม หนังศีรษะในบริเวณนั้นไม่แดง ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่เป็นสะเก็ด หรือ เป็นขุย บางคนอาจพบเส้นผมสีขาวขึ้นในบริเวณนั้น ผู้ป่วยอาจมีผมร่วงเพียง 1 - 2 หย่อม หรืออาจมากกว่า 10 หย่อม ถ้าเป็นมากอาจลุกลามจนทั่วศีรษะ บางคนอาจมีขนตาและขนคิ้วร่วงร่วมด้วย ผู้ป่วยบางคนอาจหายไปเองตามธรรมชาติ แต่อาจกินเวลาเป็นปี บางคนเมื่อรักษาหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่ เป็น ๆ หาย ๆ บ่อยครั้ง ซึ่งอาจเป็นร่วมกับโรคต่อมไทรอยด์ และ โรคด่างขาว

3. ผมร่วงจากการถอนผม พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหากดดันทางจิตใจด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ปัญหาทางครอบครัว ปัญหาการเรียน เด็กบางคนอาจถอนผมเล่นจนเป็นนิสัย ผู้ป่วยจะถอนผมตัวเองจนผมแหว่ง หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะไม่มีผื่นคันหรือเป็นขุย และจะพบเส้นผมที่เป็นตอสั้น ๆ อยู่มาก เนื่องจากผู้ป่วยถอนออกไม่ถนัด

4. ผมร่วงจากเชื้อรา โรคเชื้อราที่ศีรษะ (กลากที่ศีรษะ) อาจพบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อรา โรคนี้ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เป็นผื่นแดงคัน และเป็นขุย หรือสะเก็ด นอกจากนี้ มักจะพบร่องรอยของโรค เชื้อรา (กลาก) ที่มือ เท้า ลำตัวหรือในบริเวณร่มผ้าร่วมด้วย

5. ผมร่วงจากการทำผม การทำผมด้วยการม้วนผม ย้อมสีผม ดัดผม เป่าผม หรือวิธีอื่น ๆ อาจทำให้ผมร่วงได้ จากการที่มีหนังศีรษะอักเสบ หรือเส้นผมเปราะหัก

6. ผมร่วงจากยาและการฉายรังสี ยาที่อาจทำให้เกิดอาการผมร่วงมีอยู่หลายชนิด เช่น ยารักษามะเร็ง การฉายรังสีในการรักษามะเร็ง ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ยารักษาคอพอกเป็นพิษ ยาคุมกำเนิด ยาใช้ป้องกันโรคเกาต์

และ 7. ผมร่วงจากโรคอื่น ๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเอสแอลอี อาจมีอาการผมร่วง ผมบาง ร่วมกับอาการไข้เรื้อรัง ปวดตามข้อ มีผื่นปีกผีเสื้อขึ้นที่หน้า โรคเรื้อรังบางอย่าง ก็ทำให้ผมร่วงได้ เช่น ไทรอยด์ ซิฟิลิส โรคตับ โรคไต

“ผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ควรสระผมทำความสะอาดเส้นผม และผิวหนังของศีรษะอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรเกา หรือขยี้หนังศีรษะแรงจนเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ เช่น การย้อม ทำสี ดัด ผมที่บ่อยเกินไป หลีกเลี่ยงการดึงหรือถอนผมเล่น หลีกเลี่ยงความเครียดเพราะจะกระตุ้นให้อาการผมร่วงมากขึ้น ทั้งนี้ อาการผมร่วงในผู้ป่วยบางรายอาจหายเองได้ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุของโรคและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น