หมอเตือนวัยรุ่นใช้ยาคุมฉุกเฉินพร่ำเพรื่อ เสี่ยงอันตราย แนะกินยาคุมแบบฮอร์โมนต่ำ ช่วยลดผลข้างเคียง ประสิทธิภาพคุมกำเนิดเท่ายาคุมแบบฮอร์โมนมาก
รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1 เรื่อง การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หัวข้อ “เทคโนโลยีใหม่ในการคุมกำเนิด” ว่า ปัจจุบันการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยสามารถกินยาคุมกำเนิดได้ตั้งแต่ประจำเดือนเริ่มมาครั้งแรกจนถึงอายุ 50 ปี ซึ่งมีหลายสูตรหลายแบบให้ใช้ตามแต่ต้องการ ทั้งการฝัง การใส่ห่วง ยาเม็ดคุมกำเนิด ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดได้พัฒนามาเป็นเวลานาน จนเกิดผลข้างเคียงน้อย เนื่องจากยาคุมรุ่นแรกๆ ใส่ทั้งฮอร์โมนเพศชายและหญิง รวมทั้งใช้ฮอร์โมนปริมาณมาก จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มาก เช่น อาเจียน น้ำหนักตัวเพิ่ม ไขมันในเส้นเลือดสูง หน้ามัน เป็นต้น
รศ.นพ.อรรณพ กล่าวว่า การคุมกำเนิดในวัยรุ่น ตัววัยรุ่นควรมีสิทธิเลือกวิธีการคุมกำเนิดได้ด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีสิทธิสำหรับการฝังยาคุมกำเนิดและสามารถขอรับบริการที่โรงพยาบาลรัฐได้ทั่วประเทศ โดยวิธีเลือกคือ เลือกให้เหมาะสมสำหรับวิถีชีวิตตนเอง หากเป็นยาคุมกำเนิดแบบฝังก็จะออกฤทธิ์ยาว 3 เดือน ส่วนการกินยาเม็ดก็สามารถเลือกได้หลายสูตร แต่ก่อนรับประทานต้องทราบ คือ ชนิดของยาคุม วิธีรับประทาน วิธีใช้งาน อาการข้างเคียงขอยา ประสิทธิภาพในการใช้งาน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มักใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนแบบปกติ ซึ่งยาคุมฉุกเฉินไม่เหมาะกับการใช้บ่อยๆ เพราะมีผลข้างเคียงและมีประสิทธิภาพการคุมกำเนิดต่ำ
“ปัจจุบันพบว่ายาคุมกำเนิดแบบชนิดฮอร์โมนต่ำๆ แบบชนิด 15-20 ไมโครกรัม และ 30-35 ไมโครกรัม มีประสิทธิภาพเท่ากับยาคุมแบบฮอร์โมนมากไม่ต่างกัน แต่ผลข้างเคียงน้อย แต่ในเดือนแรกอาจพบว่ามีรอบเดือนมากะปริบกะปรอยต้องกินอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การกินยาคุมควรเริ่มจากฮอร์โมนชนิดต่ำๆ โดยเฉพาะหญิงที่อายุมาก เพื่อลดอาการข้างเคียง ส่วนการกินยาคุมในกลุ่มข้ามเพศ ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน เพื่อให้ใช้ปริมาณฮอร์โมนที่เหมาะสม” รศ.นพ.อรรณพ กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่