xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจผู้ถวายงาน “ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดใจ 5 บุคคล ผู้ถวายงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดกิจกรรมเปิดตัวบุคคลในภาพแห่งความทรงจำ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี 4 กรกฎาคม 2559 โดย วธ. เชิญบุคคลทั้ง 5 คน มาถ่ายทอดความรู้สึกที่ได้ถวายงาน โดย นางบุญจิต รุ่งรังษี ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถวายงาน สานเสื่อกระจูด ณ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 4 กล่าวว่า รู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้มีโอกาสเฝ้าฯถวายงานใกล้ชิด พระองค์มีรับสั่งถึงขั้นตอนการสานเสื่อกระจูด และขอให้ตั้งใจประกอบเป็นอาชีพสร้างรายได้ไว้เลี้ยงครอบครัว รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นหลังได้สืบสานการสานเสื่อกระจูด ตนนำคำสอนของพระองค์มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และจะช่วยสอนคนในหมู่บ้านที่สนใจ ในปัจจุบันมีการผลิตกระจูดหลายแบบ ทั้ง เสื่อ หมวก ตะกร้า ทำเป็นอาชีพสามารถสร้างรายได้หาเลี้ยงครอบครัว

นายวิรัก จำปา เจ้าหน้าที่เกษตรสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง บุคคลในภาพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงฉายพระรูปในแปลงผลิตสตรอเบอร์รีของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่ได้ถวายงานอย่างใกล้ชิด พระองค์ได้มีรับสั่งให้คัดหาสายพันธุ์สตรอเบอร์รีดี ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ จนปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้พัฒนาสตรอเบอร์รีพระราชทานพันธุ์ 88 เป็นพันธุ์ล่าสุด มีรสชาติหวานหอม รูปทรงสวย และมีสีแดงชมพู ทำให้เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 4 - 5 แสนบาทต่อปี

นายไชยฤทธิ์ ศิริชัย หัวหน้ากลุ่มงานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์และโคนม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลในภาพ ขณะทรงทอดพระเนตรโครงการฟาร์มตัวอย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านยุนแตะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ยังจดจำได้ดี ที่พระองค์ได้เสด็จมาติดตามการทำงานด้านการเกษตร ปศุสัตว์ การปลูกพืช และ การแปรรูป และมีรับสั่งให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และดูแลราษฎรให้อยู่ดีกินดี ให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์และโคมนมฯ จะน้อมนำแนวพระราชดำริมาอบรมส่งเสริมราษฎรตั้งแต่ต้นทาง คือ การรักษาป่าไม้ กลางทาง คือ การเกษตรและปศุสัตว์ และปลายทาง คือ ด้านการประมง เพื่อให้คนในพื้นที่ดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน และในฐานะที่เป็นข้าราชการในเบื้องพระยุคลบาท ก็จะถวายงานปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ และการที่เป็นหนึ่งในภาพแห่งความทรงจำครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้ตนเองตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนต่อไป

ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ บุคคลในภาพ ขณะเข้าเฝ้าฯ เพื่อฉายพระรูปภายหลังทรงเสร็จสิ้นการทรงเครื่องดนตรีกู่เจิง ในการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ตนเองได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด และ เป็นพระกรุณาธิคุณที่ทรงหยิบยกศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาเข้ากับดนตรีสากล พร้อมทรงแนะนำวิธีการแสดง และนำเสนอเพื่อหาโอกาสเปิดตัวศิลปินพื้นบ้านในต่างประเทศ ทรงมีรับสั่งต้องทำความเป็นไทยให้มีความร่วมสมัย หากทำได้แสดงว่าโนราห์มีองค์ความรู้ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 ก.ค. นี้ ตนได้ประพันธ์บทกลอนเทิดพระเกียรติขึ้นมา ความว่า อัครกุมารี ทรงเป็นศรีของชาติ วิทยาศาสตร์เสริมส่งตรงสมัย ชาวประชาพร้อมหน้ามารวมร่วมใจ ถวายไท้เจ้าฟ้าทรงพระเจริญ “พระองค์นอกจากเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ ยังมีอารมณ์สุนทรีย์ในวิถีชีวิต ชอบร้องเพลงสากล และชอบศิลปการแสดงพื้นบ้านประยุกต์จากแนวพระราชดำรินี้ สะท้อนความชาญฉลาดด้านการจัดการวัฒนธรรม ตนเองจึงนำมาใช้ในการสอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ

ขณะที่ น.ส.พิมพ์ทกานต์ เอื้อการย์กุล พนักงานบริการ งานสาธารณสุขต่างชาติ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก บุคคลในภาพขณะทรงเยี่ยมราษฎร และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. และหน่วยแพทย์พระราชทาน สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างนั้น มีสมาชิก พอ.สว. คนหนึ่งเกิดเป็นลม พระองค์ทรงลุกมาช่วย กล่าวว่า ยังจำความประทับใจและพระเมตตาที่ทรงช่วยตนเองในวันนั้น จึงตั้งใจดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ พอ.สว. อย่างเต็มที่ โดยออกหน่วยบริการในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็กต่างชาติในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งขาดหมอและยา ตนรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ด้วยความรัก และตนจะพัฒนาการเรียนเพื่อนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น