xs
xsm
sm
md
lg

ชาว “เอฟเวอร์ตัน” จัดแคมเปญระดมทุน 16 ล้านปอนด์ ประมูลถอดโลโก้ “เบียร์ช้าง” จากอกเสื้อนักฟุตบอล ชวนติด #OUTBIDCHANG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แฟนบอล “เอฟเวอร์ตัน” จัดแคมเปญเด็ด ติดแฮชแท็ก #OUTBIDCHANG หวังระดมทุนให้ร้านตัดผมเดอะบาร์เบอร์ 16 ล้านปอนด์ ประมูลล้ม “เบียร์ช้าง” ถอดโลโก้น้ำเมาออกจากอกเสื้อนักฟุตบอล ชี้ เป็นทีมสุดท้ายในพรีเมียร์ลีกที่ยังมีโลโก้น้ำเมา ย้ำไม่ควรอยู่ร่วมกับกีฬา นักวิชาการแฉธุรกิจน้ำเมาปิดกั้นสินค้าอื่นหนุนกีฬา ซัดควรมีจิตสำนึก ขอสมาคมกีฬาเลิกหวั่นไร้งบหนุน เหตุมีกองทุนกีฬา

วันนี้ (29 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในเวทีเสวนา “น้ำเมากับกีฬา : บทเรียนจากยูโรสู่ไทย” จัดโดยสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) นายไมค์ ดันไบเออร์ โฆษกโครงการรณรงค์เปิดหน้ากากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Big Alcohol Exposed) ให้สัมภาษณ์ผ่านโปรแกรมสไกป์จากประเทศสวีเดน ว่า พวกเราเป็นแฟนบอลทีมเอฟเวอร์ตัน ซึ่งทีมนี้เป็นทีมสุดท้ายในพรีเมียร์ลีกที่ยังมีโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนอกเสื้อ คือ “เบียร์ช้าง” จึงกำลังระดมทุนสาธารณะเพื่อเคลื่อนไหวและกระจายไปทั่วโลกให้สังคมตระหนักว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ภายใต้แฮชแท็กชื่อ “OUTBIDCHANG (ประมูลเพื่อเอาชนะเบียร์ช้าง)” เพื่อสนับสนุนทีมฟุตบอลที่ชื่นชอบเปลี่ยนโลโก้บนอกเสื้อจากเบียร์ช้าง ให้เป็นแบรนด์ร้านตัดผมเดอะบาร์เบอร์คลับ ซึ่งจะใช้ร้านตัดผมเป็นศูนย์กลางระดมทุนตั้งเป้าให้ได้เงิน 16 ล้านปอนด์ หรือ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชนะการประมูล เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่เราต้องการให้สังคมทั่วโลกตระหนัก และตั้งคำถามกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ควรอยู่ร่วมกับกีฬา ซึ่งทีมแพทย์ก็ระบุชัดว่า เป็นการกระตุ้นให้ดื่ม ส่งผลอันตรายกับเด็กและเยาวชน เด็กที่คุ้นเคยกับโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 4 ครั้ง จะมีแนวโน้มเริ่มดื่มถ้าเทียบกับเด็กที่ไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะกิจกรรมกีฬาหรือเบียร์ช้างเท่านั้น แต่ทุกกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลก พวกเราจะเปิดโปงให้สังคมได้รับรู้และปฏิเสธ เรารู้สึกดีใจที่จะจับมือกันเปิดหน้ากากยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า วีรบุรุษนักฟุตบอลของเด็ก ๆ ไม่ควรจะเป็นป้ายโฆษณาให้กับแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นายไมค์ กล่าว

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จากปรากฏการณ์ชาวเอฟเวอร์ตันเดินหน้าระดมทุนปลดโลโก้เบียร์ช้างออกจากหน้าอกเสื้อทีมฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน และกีฬาทุกประเภท ล่าสุด ฝรั่งเศสสั่งแบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 เนื่องจากแฟนบอลเมาก่อเหตุทะเลาะวิวาทรุนแรง ทำลายภาพลักษณ์ ทำลายวงการกีฬา จนสุดท้ายในต่างประเทศประกาศไม่ยอมรับธุรกิจชนิดนี้ ขณะที่บ้านเราแม้เป็นเรื่องใหม่ แต่ไม่ควรมองเป็นเรื่องปกติ แต่ควรนำบทเรียนนี้มาศึกษาทบทวนเพื่อหาทางออก เนื่องจากกีฬาสร้างสุขภาพ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำลายสุขภาพ จึงไปด้วยกันไม่ได้

“ธุรกิจน้ำเมาใช้วิธีผูกขาด ปิดกั้นไม่ให้ธุรกิจอื่น หรือสินค้าแบรนด์อื่นที่ดีต่อสุขภาพ เข้ามาสนับสนุนการกีฬา ที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ในเครือมีมากมายที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่ดึงเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ เนื่องจากจุดประสงค์หลักต้องการสื่อสารการตลาด กระตุ้นทั้งทางตรงทางอ้อม ให้ประชาชนสนใจเกิดความรู้สึกใกล้ชิด ใช้กลยุทธ์ดึงเยาวชนให้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักทุ่มงบกว่าพันล้าน เพื่อแลกกับการจดจำสินค้าและพักดีต่อผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังมีอิทธิพลและเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงสร้างแวดวงกีฬาทั้งระดับผู้บริหาร กรรมการฝ่ายต่าง ๆ จึงไม่แปลกที่จะสื่อสารง่าย ทุกสนามเต็มไปด้วยสินค้าของน้ำเมา ดังนั้น สมาคมกีฬาต้องปรับตัว ยิ่งปัจจุบันมีกองทุนกีฬาแล้ว จึงไม่ควรยอมตกเป็นเครื่องมือมอมเมาเยาวชนให้ธุรกิจน้ำเมาอีก ส่วนกฎหมายควบคุมสุราที่มีอยู่ต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวด และภาคธุรกิจเองต้องตระหนักไม่หากินกับกีฬา ไม่จงใจสื่อสารการตลาดทำให้วงการกีฬาแปดเปื้อน” นายคำรณ กล่าว

ผศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า กีฬาในไทยมีสปอนเซอร์ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อต่าง ๆ เกินกว่าครึ่ง ขณะเดียวกัน แม้สมาคมกีฬารับรู้ว่ามีผลให้เกิดการจดจำตราสินค้า สร้างความนิยม จูงใจให้อยากดื่ม ในอดีตก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะขาดงบประมาณในการสนับสนุนนักกีฬา แต่ปัจจุบันมีกองทุนกีฬา ซึ่งหักภาษีแบบเดียวกับ สสส. แล้ว ก็ควรใช้กองทุนนี้แทนที่จะยอมธุรกิจน้ำเมามามีอิทธิพลกับการกีฬาได้อีก ทั้งนี้ ธุรกิจน้ำเมาต้องมีจิตสำนึก อย่าหวังเพียงช่องทางสร้างแบรนด์ สร้างกำไรโดยไม่คำนึงผลกระทบ เลิกทำการตลาดโดยใช้วงการกีฬาทุกประเภทเป็นเครื่องมือ ส่วนประชาชนต้องตื่นรู้ปรับวิธีคิด เปลี่ยนค่านิยม อย่ามองเป็นเรื่องธรรมดา แต่ควรรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อ ขณะที่ภาครัฐต้องออกกฎกระทรวงห้ามขายห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที สนามกีฬาของเอกชนด้วย
แฟ้มภาพ
ดร.ภญ.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร นักวิชาการด้านการพัฒนาการเด็กและครอบครัว สมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า เมื่อไรที่เด็กเยาวชนได้เห็นตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไม่ใช่แค่การจดจำ แต่จะพัฒนาไปอยู่จิตใต้สำนึกของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยเรียนรู้ สมองส่วนหน้าที่มีไว้คิดไตร่ตรอง หรือการกล้าปฏิเสธก็จะลดลง สิ่งเหล่านี้จะเข้าครอบงำ จนเกิดเป็นความเคยชิน ยิ่งถ้าสภาพแวดล้อมทำให้เกิดการจดจำซ้ำ ๆ ยิ่งเป็นอันตรายเท่าตัว เพราะจะติดกับอารมณ์ความอยาก จนไม่สามารถแยกเยอะได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องไม่ใช้จิตวิทยาเชิงลึกตั้งใจฝังการจดจำให้เด็ก เพราะเมื่อไหร่ที่เด็กเห็นทีมกีฬาที่ตนชื่นชอบ มีโลโก้ติดอยู่บนหน้าอกเสื้อ ความเป็นแฟนคลับการซึมซับจะเกิดขึ้นทันทีซึ่งมีอิทธิพลครอบงำถลำลึกไปถึงการใช้สินค้านั้น ๆ ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้ต่อต้านให้ธุรกิจนี้ไม่มีช่องทางทำมาหากิน แต่การเสพอะไรที่มากเกินความจำเป็นของเด็ก โอกาสที่เด็กจะได้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจเลือกเองจะไม่มี สุดท้ายกลายเป็นการสร้างตราบาปให้เด็ก

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น