xs
xsm
sm
md
lg

2 เตียงอัจฉริยะฝีมือ “พยาบาล มธ.” ช่วยจัดท่าทารกหายใจสะดวก พลิกตัวผู้ป่วยป้องกันแผลกดทับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พยาบาล มธ. โชว์ 2 นวัตกรรม “เตียงจัดท่าทารก” ช่วยปรับระดับให้เด็กหายใจสะดวก พร้อมตรวจจับเสียงเสมหะ ช่วยรู้การหายใจผิดปกติได้ และ “เตียงพลิกตะแคงตัวระบบไฟฟ้า” ป้องกันแผลกดทับได้ทั้งบริเวณปุ่มกระดูก ท้ายทอย ใต้เข่า ส้นเท้า ช่วยคุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น

รศ.ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า คณะพยาบาลศาสตร์ได้มีการคิดค้นนวัตกรรม 2 นวัตกรรม ประกอบด้วย 1.“เตียงปรับระดับอัตโนมัติเพื่อการจัดท่าสำหรับทารกและเด็กเล็กระบบอัจฉริยะ” (PPG: Intelligence Version) โดย น.ส.สุภาวดี ทับกล่ำ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. เพื่อช่วยจัดท่านอนของเด็กให้สามารถหายใจได้สะดวกขึ้น โดยเครื่องนั้นจะมีเตียงควบคุมอัตโนมัติที่สามารถพลิกตะแคงได้ตามกำหนด ทั้งสูงต่ำ ซ้ายขวา และตั้งโปรแกรมปรับองศา และตั้งเวลาอัตโนมัติตามที่ต้องการล่วงหน้าได้ และมี “เครื่องตรวจจับเสมหะ” ในการตรวจจับเสียงเสมหะในปอดและวิเคราะห์เสียงหายใจที่ปกติในทันที หากเด็กเล็กมีอาการหายใจติดขัดจากเสมหะที่คั่งค้างในปอด โดยจะแสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยผลงานดังกล่าว สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ และรางวัล Special Prize จากประเทศฮ่องกง ในงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 44 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

รศ.ดร.มรรยาท กล่าวอีกว่า 2. นวัตกรรม “เตียงพลิกตะแคงตัวระบบไฟฟ้า” โดย ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. เตียงนอนพลิกตะแคงตัวระบบไฟฟ้า จะทำงานโดยใช้ไฟฟ้ามีคุณสมบัติ คือ 1. สามารถพลิกตะแคงตัวซ้ายและขวา ระหว่าง 0 - 30 องศากับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทบบริเวณปุ่มกระดูก 2. สามารถยกหัวเตียง ระหว่าง 0 - 60 องศากับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณท้ายทอย ใบหูใบหน้าและเพื่อยกศีรษะสูงเวลารับประทานอาหาร หรือเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ 3. สามารถยกส่วนข้อพับเข่า 0 - 45 องศา กับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณใต้เข่า ข้อเข่า ส้นเท้า ตาตุ่ม เตียงพลิกตะแคง จะช่วยอำนวยความสะดวกในการพลิกตะแคงอย่างถูกต้องแก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว ซึ่งส่งผลให้คุณภาพการดูแลผู้ป่วยดีมากขึ้น ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทอง ในงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 43 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส


รศ.ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น