จิตแพทย์ห่วงปัญหา “เด็กเดินยา” เหตุอายุน้อย ขาดวุฒิภาวะ ถูกล่อลวงง่าย ชี้คนใกล้ชิด “เพื่อนบ้าน - โรงเรียน - ญาติ” มีโอกาสทั้งหมด แนะวิธีสังเกตพฤติกรรมลูกเอี่ยวยาเสพติด วอนพ่อแม่อย่าโทษตัวเอง
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวถึงกรณีข้อมูลการนำเด็กอายุ 7 ขวบ มาเป็นเด็กเดินยา ว่า เด็กเล็กยังขาดความยับยั้งชั่งใจ และขาดวุฒิภาวะในการพิจารณา จึงถูกล่อลวงได้ง่าย สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ต้องสังเกตพฤติกรรมลูก โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุไม่ถึง 10 ปี โดยอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร กินข้าวน้อยลง กระวนกระวายมากขึ้น ที่สำคัญ มีเงินซื้อของเล่นใหม่ ๆ ทั้งที่พ่อแม่หรือญาติไม่ได้ซื้อให้ ประกอบกับร่างกายซูบผอม นอนหลับน้อยลง และหงุดหงิดง่าย ก้าวร้าวกับพ่อแม่ เป็นต้น หากพบพฤติกรรมเหล่านี้ต้องพูดคุยกับลูก
“พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่ เพราะบางคนมักโทษตัวเอง กลายเป็นโรคซึมเศร้า ความจริงคือเราต้องมีจิตใจมั่นคง เพราะพวกเขายังเด็กย่อมถูกล่อลวงได้ แต่เราสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่หากพ่อแม่รับฟัง เพราะลูกอยากคุย อยากมีคนช่วยเหลืออยู่แล้ว ซึ่งพ่อแม่สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาได้ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาสารเสพติดตามโรงพยาบาลทุกแห่ง” นพ.กิตต์ทวี กล่าว
นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า สำหรับกรณีเด็กเล็กที่ถูกหลอกให้เดินยานั้น สิ่งที่ต้องระวัง คือ ผู้ใกล้ชิด ทั้งเพื่อนบ้าน หรือโรงเรียน หรือแม้แต่ญาติก็มีโอกาสทั้งนั้น จึงต้องระมัดระวังและสังเกตพฤติกรรมเด็กด้วย ทั้งนี้ ปัญหายาเสพติดพบได้ทุกช่วงวัย อย่างที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ เคยพบอายุน้อยสุดระหว่าง 12 - 13 ปี แต่ส่วนใหญ่จะพบในอายุ 18 - 30 ปี ขณะเดียวกัน เคยพบผู้เสพที่อายุมากสุด คือ 60 ปี ก็มี เนื่องจากเพื่อนท้าทายให้ลองเสพ แต่ขณะนี้ได้เข้ามาบำบัด ซึ่งอยากบอกว่า ทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงติดยาเสพติดได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะมีสติรับมือได้หรือไม่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่