xs
xsm
sm
md
lg

เช็กอาการเสี่ยง “เนื้องอกสมอง” รู้ตัวช้าทำพิการ-ตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พบคนไทยป่วย “เนื้องอกในสมอง” เพิ่มขึ้น ชี้ปวดศีรษะอาการเริ่มต้น ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงทำสับสน กระสับกระส่าย ซึมลง ไม่รู้สึกตัว เผยเนื้องอกสมองแต่ละจุดมีอาการต่างกัน รักษาช้าอาจพิการ หรือเสียชีวิต หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื้องอกสมอง คือ เนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะ และมีมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งมีทั้งชนิดที่เป็นเนื้อร้ายและไม่เป็นเนื้อร้าย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกหลายอย่าง เช่น กรรมพันธุ์ การสัมผัสกับรังสีหรือสารเคมีบางชนิด รวมถึงการเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่นแล้วแพร่กระจายไปยังสมอง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด เป็นต้น จากข้อมูลของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคเนื้องอกสมอง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็น 1 ใน 5 ลำดับโรคแรกของสถาบันฯ สำหรับอาการของเนื้องอกสมองทั้งเนื้องอกธรรมดา และเนื้อร้าย จะมีอาการแสดงโดยทั่วไปคล้ายกัน เช่น ปวดศีรษะ มักเป็นอาการเริ่มต้นของการเกิดเนื้องอกสมองประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเนื้องอกในสมองมักมีอาการปวดศีรษะ ตั้งแต่ปานกลาง ถึงรุนแรงมาก และแบบเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่จะเกิดตอนเช้าหลังตื่นนอน เนื่องจากหลอดเลือดสมองถูกกด หรือถูกดึงรั้งจากเนื้องอก อาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายในท้อง มักมีอาการตอนเช้า ซึ่งไม่สัมพันธ์กับมื้ออาหาร

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ระดับความรู้สึกตัวจะเปลี่ยนแปลงไป โดยในระยะเริ่มแรกอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่เมื่อเนื้องอกโตขึ้นจะทำให้ระดับความรู้สึกตัวค่อย ๆ เปลี่ยนไป จนทำให้มีอาการสับสน กระสับกระส่าย ซึมลง และไม่รู้สึกตัว ส่วนอาการชักพบได้ประมาณ 30% ของผู้ป่วยเนื้องอกสมอง นอกจากนี้ ยังมีอาการที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของเนื้องอกนั้น ๆ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมองจะมีอาการตามัว เห็นภาพซ้อน และระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายมีความผิดปกติ เนื้องอกบริเวณสมองน้อยจะมีอาการเดินเซ ใช้เวลาหยิบของที่อยู่ตรงหน้าหลายครั้งจึงจะหยิบถูก มีเสียงดังในหู วิงเวียน บ้านหมุน เนื้องอกบริเวณก้านสมองจะมีอาการอาเจียน กลืนลำบาก หน้าเป็นอัมพาตข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มองตาขึ้นข้างบนไม่ได้ เนื้องอกบริเวณโพรงสมองจะมีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ปัสสาวะปริมาณมาก ง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสมจะทำให้มีความดันในกะโหลกศีรษะสูงสมองเคลื่อน ไม่รู้สึกตัว และถึงขั้นเสียชีวิตได้

“โรคเนื้องอกสมองเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อย และหากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลทันท่วงทีจะทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปัจจุบันแนวทางการรักษามี 3 วิธีใหญ่ ๆ คือ การผ่าตัด การฉายแสง และการให้ยาเคมีบำบัด ดังนั้น ควรหมั่นสำรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าถึงโรคเนื้องอกในสมองซึ่งเมื่อพบความผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น