วิจัยพบชาวปัตตานีสูบบุหรี่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ สสส.- สสจ.ปัตตานี จับมือผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน รณรงค์ “ให้รอมฎอน...เป็นจุดเริ่มต้นในการเลิกบุหรี่”
นพ.อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวในงานรณรงค์ “ให้รอมฎอน...เป็นจุดเริ่มต้นในการเลิกบุหรี่” จัดโดยโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เครือข่ายองค์กรงดเหล้าและบุหรี่จังหวัดปัตตานี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า จากการตรวจคนไข้มากว่า 20 ปี พบว่า คนไข้ที่มีปัญหาและเสียชีวิตเร็วที่สุด คือ คนไข้ที่สูบบุหรี่ เพราะปอดอาการหนัก โรคของบุหรี่ไม่เหมือนเชื้อโรค ต้องใช้เวลาสักระยะถึงจะมีอาการ คนปัตตานีสูบบุหรี่สูงเป็นอันดับสามของประเทศ โดยผู้ชายปัตตานี 100 คน จะสูบบุหรี่ถึง 60 คน และเพิ่มมากขึ้นในเยาวชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ยาเสพติดอื่น ๆ จึงร่วมกับ สสส. เพื่อเป็นฟันเฟืองเชื่อมประสานเครือข่ายในพื้นที่ให้เห็นความสำคัญของการเลิกบุหรี่ โดยใช้รอมฎอนเป็นเดือนสำคัญในการเริ่มต้นของการเลิกบุหรี่
นางสรินฎา ปุติ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า จากการทำวิจัยเรื่องบุหรี่ใน จ.ปัตตานี มาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน พบว่า หากจะทำให้การติดบุหรี่เป็นศูนย์เป็นเรื่องท้าทายมากกับ จ.ปัตตานี จากการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่มจำนวน 109 คน จากอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น กรรมการมัสยิดที่สูบบุหรี่ ได้รับรู้ว่า สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สูบบุหรี่ คือ เหตุการณ์ สถานที่ และเวลา รวมทั้งให้บุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ส่วน 66% เห็นว่า บุหรี่เป็นสิ่งฮาราม ต้องห้าม สิ่งที่จะทำให้เลิกบุหรี่ได้ คือ ตัวเอง ภรรยา ลูก และคนรัก บรรทัดฐานทางศาสนามีผลอย่างมากต่อความหมายของการสูบบุหรี่ ผู้นำศาสนาจึงเป็นตัวขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงให้เกิดการเลิกสูบบุหรี่ จึงสามารถนำไปออกแบบในการเลิกสูบบุหรี่ในชุมชนต่าง ๆ ได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่