สธ. ร่วม สสส. และภาคีเครือข่าย จัดโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ ส่ง “หมออนามัย - อสม.” รวม 1 ล้านกว่าคน ชวนคนติดบุหรี่ให้เลิกสูบต่อเนื่อง 6 เดือน ถึงตลอดชีวิตปีละ 1 คน รวม 3 ล้านคน ใน 3 ปี ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันนี้ (8 มิ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” ว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 11.7 ล้านคน เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 20 เท่า มีคนตายจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในกลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไป 50,710 คน หรือประมาณร้อยละ 12 ของการตายทั้งหมด อันดับหนึ่งคือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รองลงมาคือ มะเร็งปอด หัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงมะเร็งอื่น ๆ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ 5.22 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจีดีพี โดยคิดเป็นค่าใช้จ่ายทางตรงทางการแพทย์เท่ากับ 10,137 ล้านบาท สธ. จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมหมออนามัย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี ในปี 2559 และเนื่องในโอกาสทรงมีพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในปี 2560 และ 91 พรรษา ในปี 2561
นพ.โสภณ กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการชักชวน เชิญชวน และท้าชวนให้เลิกสูบบุหรี่ พร้อมลงชื่อสมัครใจเลิกบุหรี่ ซึ่งจะรวบรวมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งโดยตั้งเป้าหมายให้มีผู้เลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องให้ได้ไม่น่อยกว่า 6 เดือน หรือตลอดชีวิตให้ได้ 3 ล้านคน ในเวลา 3 ปี ซึ่งจะใช้พลังของเครือข่ายหมออนามัย และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เนื่องจาก อสม. มีความใกล้ชิดกับประชาชนในหมู่บ้านมาก เป็นจุดแข็งในการควบคุมยาสูบและดูแลสุขภาพคนที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ ช่วยคัดกรอง แนะนำให้เลิก ป้องกันการกลับไปสูบ ป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นการรณรงค์เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่แค่การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเหมือนที่ผ่านมา อย่างการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งการสร้างจิตสำนึกอาจจะเห็นด้วย แต่สุดท้ายพฤติกรรมไม่เปลี่ยน เพราะยังสูบบุหรี่อยู่ ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมถือว่าเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่แค่ลงนามว่าจะเลิกก็เลิกได้ ความยากคือ การทำให้เลิกได้อย่างต่อเนื่อง เพราะบางคนเลิกแล้วกลับมาสูบใหม่ ดังนั้น การใช้เครือข่ายหมออนามัยที่มีกว่า 4 หมื่นคน และ อสม. กว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งถือว่าหนาแน่นกว่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ สามารถเข้าถึงทุกคนทุกบ้าน ทุกซอกทุกมุมในไทย จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จ ที่สำคัญ ยังเป็นการใช้กระบวนการกลุ่มในการชวนทำกิจกรรมเลิกบุหรี่ เช่น ออกกำลังกาย ก็มีโอกาสช่วยให้เลิกสูบได้มากขึ้น เพราะมีผลวิจัยชัดเจนว่าคนที่ออกกำลังกายสามารถเลิกบุหรี่ได้มากกว่า และที่ผ่านมา คนที่หันกลับไปสูบบุหรี่อีก เนื่องจากยังเห็นคนสูบ คนชักชวน แต่ไม่มีคนชวนออกกำลังกายให้เลิกสูบ
“ส่วนความเป็นไปได้ในการจะทำโครงการ 3 ล้าน 3 ปี ให้สำเร็จนั้น หากคำนวณประเทศไทยมี 7 พันกว่าตำบล รวม 8 หมื่นกว่าหมู่บ้าน โดย มี อสม. ประจำ 10 - 20 คนต่อหมู่บ้าน หาก อสม. ไปชวนคนที่สูบบุหรี่ให้เลิกสูบสัปดาห์ละ 2 คน ถ้าตำบลนั้นมี 10 หมู่บ้าน ก็จะชวนคนที่จะเลิกสูบได้ 20 คนต่อสัปดาห์ โดยชวนต่อเนื่อง 4 เดือน ก็จะสะสมคนที่จะเลิกบุหรี่ได้ประมาณ 320 คนต่อตำบล โดยพาออกกำลังกายทุกสัปดาห์เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจากสถิติโดยเฉลี่ยแล้ว พบว่า ใน 4 คนจะสามารถเลิกได้ 1 คน ก็จะเหลือคนเลิกบุหรี่ได้ประมาณ 80 คนต่อตำบล ซึ่งประเทศไทยมีประมาณ 7,000 ตำบล ก็จะได้ประมาณ 560,000 คนที่สามารถเลิกได้ และให้คนที่เลิกบุหรี่ได้ไปชวนต่ออีก เมื่อครบ 3 ปี ก็มีโอกาสได้จำนวน 3 ล้านคน ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ที่สำคัญคือ การจะทำให้สำเร็จต้องลงมือทำจริง ๆ ไม่ใช่แค่การสร้างกระแส ต้องมีความอุตสาหะมากทั้ง อสม. และคนเลิกบุหรี่ และอย่าไปฟังเสียงกระแนะกระแหนคนที่ปรามาสว่าทำไม่สำเร็จ ซึ่งหากเราก้าวผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ก็จะสำเร็จ” นพ.บัณฑิต กล่าว
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า อสม. เป็นพลังสำคัญในการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ เพราะอย่างปี 2558 กรมฯ จัดทำโครงการเลิกบุหรี่ 1 อสม. ขอ 1 คนเลิก เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ซึ่งตั้งเป้าให้มีคนเลิกให้ได้ 1 แสนคน โดยพบว่าสามารถทำให้คนติดบุหรี่เลิกบุหรี่ต่อเนื่องกัน 3 เดือน ได้ประมาณ 6 หมื่นกว่าคน คิดเป็น 64% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เพราะจากข้อมูลพบว่า การทำให้คนเลิกบุหรี่ด้วยวิธีต่าง ๆ ผสมกันนั้น ส่วนใหญ่ความสำเร็จมักจะต่ำกว่า 50% กลไก อสม. จึงถือว่าประสบความสำเร็จ ที่สำคัญ จำนวนคนที่เลิกได้ 6 หมื่นกว่าคนนั้น 85% เลิกโดยไม่ต้องใช้ยา หรือสารทดแทน นั่นคือ ใช้วิธีหักดิบ โครงการ 3 ล้าน 3 ปี อสม. จึงมีส่วนสำคัญ ซึ่ง อสม. มีประมาณล้านกว่าคน ถ้า 1 คน สามารถชวนให้เลิกได้ 1 คนต่อปี ก็จะมีคนเลิกได้ 1 ล้านคนต่อปี ทำต่อเนื่อง 3 ปี ก็จะได้ 3 ล้านคน ใน 3 ปี
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่