xs
xsm
sm
md
lg

ไฟไหม้ ร.ร.ที่เชียงราย ถึงเวลาใส่ใจเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ ได้หรือยัง ?/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ตอนลูกอยู่ที่โรงเรียนมีการซ้อมหนีไฟไหมครับ”

ดิฉันตั้งคำถามลูกชายคนโตภายหลังจากที่เห็นข่าวเกิดเหตุเพลิงไหม้ หอพักนักเรียนหญิงโรงเรียนพิทักษ์เกียรติ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จนมีเด็กวัย 5 - 12 ปี เสียชีวิตถึง 17 ราย และมีผู้บาดเจ็บหลายราย

หลังจากเห็นข่าวนี้แล้วทั้งสลดใจและสะเทือนใจอย่างยิ่ง เพราะเด็กตกเป็นเหยื่ออีกแล้วถึง 17 ราย เป็นข่าวร้ายที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เปิดเทอม และเชื่อว่า นี่คงไม่ใช่กรณีสะเทือนขวัญครั้งสุดท้าย ตราบใดที่มาตรการทางด้านความปลอดภัยในบ้านเรายังเป็นอยู่อย่างนี้

แม้คำตอบของลูกชายจะทำให้เบาใจได้บ้าง เพราะเขาบอกว่าซ้อมเป็นประจำ แต่ต่อท้ายว่าส่วนใหญ่เด็ก ๆ ก็ไม่ค่อยได้จริงจังนัก

เป็นคำตอบที่พอเห็นภาพ เพราะอาคารสูงในบ้านเราก็มีการซ้อมหนีไฟกันอยู่บ้าง ซึ่งก็นับว่ายังดี แต่มีทุกที่หรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารในโรงเรียน ดิฉันลองสุ่มถามหลายโรงเรียน คำตอบส่วนใหญ่ คือ ไม่มี สถานที่ที่มีมาตรการเหล่านี้ก็น่าชื่นชม เพราะตระหนักว่าเรื่องนี้สำคัญ แต่มีอาคารจำนวนมากที่ไม่ตระหนักในเรื่องนี้

กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับโรงเรียนพิทักษ์เกียรติเป็นอาคาร 2 ชั้น ดูจากสภาพแล้วไม่น่าจะเกิดการสูญเสียที่ร้ายแรงขนาดนี้ ถ้าไม่ตั้งอยู่บนความประมาท
วัตถุประสงค์มิได้จะมาซ้ำเติมใด ๆ แต่อยากสะท้อนซ้ำ ๆ ว่า การทำงานใด ๆ กับเด็กจำนวนมาก ไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ และยิ่งพบว่าจำนวนเด็ก 38 คน แต่มีผู้ใหญ่อยู่คนเดียว เป็นไปได้อย่างไร ?
จะบอกว่าบังเอิญคนนั้นคนนี้ไปทำอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องมีคนสลับเปลี่ยนด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องไฟไหม้อย่างเดียว แต่หมายถึงเหตุอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงทุกกรณี แถมยังเป็นหอพักหญิงอีกต่างหาก ปล่อยแบบนี้ได้อย่างไรกัน
และแม้ไม่อยากมีอุทาหรณ์บทเรียนชีวิตอะไรแบบนี้อีกเลย แต่ก็มีอีกจนได้

บทเรียนราคาแพงครั้งนี้แลกมาด้วยชีวิตเด็ก 17 ราย สิ่งที่ตามมาก็คงหนีไม่พ้นต้นสังกัดขอให้กวดขันเรื่องให้ทุกโรงเรียนซ้อมหนีไฟ

ขอย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่สูญเสียจากเรื่องไฟไหม้อย่างเดียว แต่สะท้อนถึงระบบความปลอดภัยที่ไม่มี รวมไปถึงการปล่อยให้ผู้ใหญ่อยู่คนเดียวกับเด็ก 38 คน และการไม่มีระบบช่วยเหลือที่ดีพอ

ทั้งที่เรื่องความปลอดภัยในเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่มาตรการเรื่องนี้ในบ้านเราถือว่าต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือโยนให้เป็นเรื่องของโรงเรียนหรือภาครัฐอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องมีการสอดรับประสานกัน
เรื่องนี้น่าจะกระตุกเตือนเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจังสักที
ระดับครอบครัว

ความปลอดภัยต้องเริ่มต้นในครอบครัว โดยปูพื้นฐานทักษะการป้องกันตนเอง จากสิ่งที่เป็นอันตรายทีละเล็กละน้อยตามช่วงวัยของเด็ก เพื่อให้เด็กแยกสิ่งที่เป็นอันตรายกับสิ่งที่ไม่เป็นอันตรายด้วยความเข้าใจ

ประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุด ก็คือ เรื่องการตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเองในบ้านเรายังอยู่ในขั้นอัตราต่ำเอามาก ๆ ยกตัวอย่างการใช้ชีวิตของผู้คนที่อยู่บนความประมาท เช่น เมื่อนั่งรถมอเตอร์ไซค์จะใส่หมวกกันน็อก เพราะกลัวตำรวจจับมากกว่าที่จะกลัวว่าเกิดอุบัติเหตุแล้วจะเป็นอันตราย ฯลฯ

และมักจะคิดเข้าข้างตัวเองเสมอว่าไม่เกิดขึ้นกับเราหรอก ซึ่งในความเป็นจริง ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เสมอ

ยิ่งถ้ามีลูก ความกังวลเรื่องลูกจะไม่ปลอดภัยน่าจะกลายเป็นแว่นขยายอันใหญ่ที่ทำให้ต้องกลับมาตระหนักเรื่องความปลอดภัยอย่างมาก ควรจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง หรืออาจจะต้องหาทางปลูกฝังให้เรียนรู้เรื่องปลอดภัยในชีวิตอย่างสม่ำเสมอ

ที่สำคัญ ต้องเน้นว่ามีภาวะความเสี่ยงอยู่รายล้อมรอบตัว ทั้งภัยจากมนุษย์หรือภัยจากธรรมชาติ ที่ลูกควรได้เรียนรู้ว่าเมื่อภัยมา เขาควรจะหาทางช่วยเหลือตัวเองอย่างไรในเบื้องต้น

ยิ่งกรณีที่เป็นเด็กเล็กต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน เพราะเด็กเล็กยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และเมื่อโตขึ้นก็ค่อย ๆ ปลูกฝังในชีวิตประจำวัน แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะซึมซับไปสู่เด็กเมื่อโตขึ้น เวลาเด็กทำอะไรก็จะคำนึงถึงความปลอดภัยเช่นเดียวกัน

สิ่งสำคัญอีกประการ ก็คือ พ่อแม่ควรเรียนรู้วิธีการป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูก การประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และควรมีช่วงเวลาในการพูดคุยกัน พ่อแม่พยายามตั้งคำถามหรือจำลองสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อลองฝึกให้ลูกแก้ปัญหาเวลาเกิดภัยต่าง ๆ ขึ้นมาควรทำอย่างไร

และเมื่อลูกโตพอที่จะฝึกทักษะความปลอดภัยขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ก็ไม่ควรรีรอ เพื่อการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่พวกเขาอาจต้องเผชิญในชีวิตจริง

ระดับชุมชน
ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีภาวะความเสี่ยงภัยสูง พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กรู้ถึงความปลอดภัยรอบด้าน เริ่มต้นที่ความปลอดภัยใกล้ ๆ ตัว หรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นที่โรงเรียน หรือแถวบ้าน เช่น อุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม หรือแม้กระทั่งเรื่องทรัพย์สิน ไม่ควรให้ลูกใส่เครื่องประดับหรือของมีค่าเพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม

โดยธรรมชาติของเด็ก เป็นวัยอยากรู้ อยากลอง อยากเล่น และอยากเลียนแบบ โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือไม่ ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องเป็นฝ่ายระมัดระวัง เริ่มด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับลูก รวมไปถึงสภาพแวดล้อมแถวบ้าน ในชุมชน ในโรงเรียน ก็ควรได้รับการใส่ใจ อาจเป็นการรวมกลุ่มกันของพ่อแม่ในชุมชน ในโรงเรียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับลูกหลาน

หรือสอบถามลูกเสมอในเรื่องความปลอดภัยระหว่างการเดินทางไปกลับโรงเรียน สนามเด็กเล่นเป็นอย่างไร มีบริเวณใดที่เป็นอันตรายหรือไม่ ฯลฯ เพื่อเป็นการตรวจสอบและทดสอบความเข้าใจของเด็กด้วย

ระดับนโยบาย
ในที่นี้รวมไปถึงองค์กร หน่วยงาน ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบพนักงานของตนด้วย อาจมีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยในหน่วยงานนั้น ๆ ด้วย

แต่เหนืออื่นใด การผลักดันให้ภาครัฐออกกฎหมาย มาตรการป้องกันดูแลรักษาความปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ก็มีความสำคัญอย่างมาก ปัจจุบันเรามีกฎหมายที่คุ้มครองเรื่องความปลอดภัยอยู่มิใช่น้อย แต่เรื่องบังคับใช้กฎหมายก็ยังเป็นปัญหาอยู่มาก เป็นเหตุให้ผู้คนไม่ปฏิบัติตาม สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่จนทุกวันนี้

ถ้าภาครัฐเอาจริงเอาจังกับมาตรการความปลอดภัยของพลเมือง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเชื่อเหลือเกินว่า พลเมืองไทยจะปลอดภัยมากกว่านี้อย่างแน่นอน

แล้วเราก็ไม่ต้องมาฟังข่าวโศกนาฏกรรมซ้ำซาก เพราะความประมาท และมักง่ายของคนในสังคมทุกระดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น