สธ. จัดส่งทีมแพทย์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเหตุไฟไหม้หอพัก ร.ร.พิทักษ์เกียรติ เผย เจ็บสาหัสต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อยู่ในห้องไอ.ซี.ยู. 1 ราย พร้อมส่งจิตแพทย์ดูแลจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต นร. ประสบเหตุใกล้ชิด ป้องกันเสี่ยงโรควิตกจริต
วันนี้ (23 พ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเหตุเพลิงไหม้หอพักนักเรียนหญิงโรงเรียนพิทักษ์เกียรติ ต.เสียงป่าเป้า อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จนมีผู้เสียชีวิต 17 ราย ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงราย และ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ดูแลรักษา ได้ลงพื้นที่ และให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว โดยผู้บาดเจ็บ 5 ราย รักษาตัวที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 2 ราย โดยรายแรกมีแผลไฟไหม้ร้อยละ 25 บริเวณด้านหลัง มีแผลที่แขนและขาซ้าย อีกรายใช้เครื่องช่วยหายใจ อยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. แพทย์ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนอีก 3 ราย พักรักษาตัวที่ รพ.เวียงป่าเป้า อาการไม่รุนแรงมาก มีบาดแผลและระคายคอ เจ็บคอจากการสำลักควัน แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้วันที่ 24 พ.ค.
“เบื้องต้นได้สั่งการให้ สสจ.เชียงราย ส่งทีมแพทย์เข้าดูแลสภาพจิตใจ เยียวยาครอบครัว ครู เจ้าหน้าที่ประจำโรงเรียน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ พร้อมย้ำให้เจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเต็มกำลังความสามารถ ส่วนผู้เสียชีวิตทั้ง 17 ราย ได้ส่งทีมพิสูจน์อัตลักษณ์จาก รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ตรวจพิสูจน์หลักฐานอย่างเร่งด่วน” ปลัด สธ. กล่าว
ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลังเกิดเหตุจะอยู่ในช่วงตื่นตระหนก ตกใจ ทีมสุขภาพจิตในพื้นที่จะคอยดูแลและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายในระดับหนึ่งแล้ว จะส่งทีมจิตแพทย์จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และ รพ.สวนปรุง ลงพื้นที่ เพื่อไม่ให้เป็นการกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยจะมีการติดตามสภาพจิตใจเด็กที่ประสบเหตุอย่างใกล้ชิด เพราะยังไม่มีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจที่ดีพอเมื่อเจอเหตุความสูญเสียเช่นนี้ อาจทำให้เป็นโรควิตกจริตในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้ โดนจะแยกทะเบียนประวัติติดตามเป็นรายบุคคล ที่สำคัญคือ เด็กที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหามากที่สุด จึงต้องพยายามรักษาโรคทางกายให้ได้ ลดการบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะถาวรให้ได้มากที่สุด
“สิ่งที่ควรดำเนินการในช่วงนี้ คือ พยายามช่วยเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์มีความผ่อนคลาย สบายใจ จัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม หากิจกรรมให้เด็กทำ ให้กลับมามีรอยยิ้มให้ได้ ถ้าเด็กยิ้มได้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวให้เด็ก ๆ เหล่านี้ฟัง แม้ว่าการเล่าเหตุการณ์จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยเหลือทางจิต แต่ควรทำโดยจิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ” นพ.พงศ์เกษม กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่