พะเยา - องค์กรสิทธิชุมชนพะเยาจับมือกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น 4 จังหวัดภาคเหนือ เปิดเวทีแสดงผลงานตาม พ.ร.บ.สัญชาติ คนไทยพลัดถิ่นฯ ก่อนยื่นขอสัญชาติต่อคณะกรรมการฯ หลังซุ่มทำผลงานตามระเบียบ 3 ปี
วันนี้ (22 เม.ย.) นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดเวทีสรุปผลงาน 3 ปี ที่องค์กรสิทธิชุมชน จ.พะเยา ร่วมกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นภาคเหนือ คือ จังหวัดเชียงราย น่าน และพะเยา จัดขึ้นที่บริเวณที่ว่าการอำเภอเชียงคำ จ.พะเยา
เพื่อแสดงผลงานการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ทั้งการสำรวจบุคคลที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายในพื้นที่ 3 จังหวัด พะเยา เชียงราย น่าน, การคัดกรองบุคคล, งานด้านเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม ประเพณี, สังคม, การศึกษาวิจัยชาติพันธุ์ ที่ถือว่าเป็นระเบียบ และขั้นตอนหนึ่งของการขอสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 5) “คนไทยพลัดถิ่น” ต่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้ได้สิทธิสัญชาติ
นางอชิรญา สร้อยสวิง นักกฎหมายประจำองค์กรสิทธิชุมชนจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ปัจจุบันคนพลัดถิ่นใน 4 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงราย-น่าน มีอยู่ค่อนข้างมาก ส่วนที่พะเยา ที่เป็นพี่น้องชาวไทลื้อ และไม่มีสัญชาติก็น่าจะมีมากกว่า 1,000 คน
แต่คนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่มีสัญชาติ และเข้ากับเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 5) “คนไทยพลัดถิ่น” ในพะเยา มีอยู่เพียง 95 คนเท่านั้น ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิใดๆ จากทางรัฐบาล ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ต่อมารัฐบาลมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 5) “คนไทยพลัดถิ่น” เมื่อปี 2555 จึงเป็นช่องทางในการขอสัญชาติไทยของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ร่วมกันเดินเรื่องมาตั้งแต่บัดนั้น
ซึ่งตาม พ.ร.บ.นี้จะต้องมีการทำเอกสารทางวิชาการประกอบให้ครบตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ. และยื่นเสนอขอสิทธิฯ ต่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้ได้สิทธิสัญชาติฯ ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะกรรมการฯ มีกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ รวม 11 คน และมีอธิบดีกรมการปกครองเป็นฝ่ายเลขาฯ ในการพิจารณาอนุมัติสิทธิสัญชาติ โดยกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจะต้องยื่นเสนอผ่านทางอำเภอไปยังจังหวัด และคณะกรรมการระดับชาติเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอยื่นขอสัญชาติต่อคณะกรรมการฯ ดังกล่าว