xs
xsm
sm
md
lg

บังคับใช้ กม.อุ้มบุญ 10 เดือน ยื่นขออุ้มบุญแล้ว 50 คู่ ทำจริง 8 คู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส. เผยบังคับใช้ กม. อุ้มบุญ 10 เดือน มีคนยื่นเรื่องขอทำอุ้มบุญแล้ว 50 คู่ ทำไปแล้ว 8 คู่ จ่อคิวรออีก 12 คู่ แนะคู่สมรสทั้งไทย - เทศ ผู้ให้บริการปฏิบัติตามกฎหมาย ห้ามหาแม่รับจ้างอุ้มบุญ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการบังคับใช้ “พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558” หรือกฎหมายอุ้มบุญ ว่า วัตถุประสงค์ของการมีกฎหมายฉบับนี้ เพื่อช่วยให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีบุตรยาก ซึ่งในประเทศไทยพบได้ประมาณร้อยละ 15 ได้มีบุตรตามต้องการโดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มาช่วย โดยให้หญิงอื่นที่เป็นญาติสายตรงของฝ่ายสามีหรือภรรยาช่วยตั้งครรภ์ให้แทน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแพทย์ที่มีความสามารถและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้อัตราการตั้งครรภ์สำเร็จจากการผสมเทียมสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ นับว่า เป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่มีการควบคุมกำกับการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์อย่างชัดเจน

“จากการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา รวมเกือบ 10 เดือน พบว่า มีผู้ให้ความสนใจสอบถามไปยังสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เพื่อปรึกษาข้อกฎหมาย การดำเนินการด้านเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ รวมทั้งการขอรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเฉลี่ยเดือนละ 250 ครั้ง โดยมีคู่สมรสที่มีบุตรยาก ยื่นเอกสารประสงค์จะให้ตั้งครรภ์แทนแล้ว 50 คู่ คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทน ได้พิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนแล้ว 8 คู่ และในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้ คณะอนุกรรมการจะประชุมพิจารณาอีก 12 คู่” อธิบดี สบส. กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลที่ให้บริการด้วยวิธีนี้ และคู่สมรสที่มีบุตรยาก ศึกษา และปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างถี่ถ้วน ห้ามดำเนินการทำอุ้มบุญหรือใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์โดยมิได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด และไม่มีการซื้อขายใด ๆ ทั้งสิ้น หากฝ่าฝืนมีโทษตั้งแต่จำคุก 1 - 10 ปี หรือปรับ 2 หมื่น - 2 แสนบาท

นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดี สบส. กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุ้มบุญ ด้วยหลักการง่าย ๆ คือ “7 ห้าม 2 มี 3 ขอ” ก่อนดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี มีดังนี้ 7 ห้าม ได้แก่ ห้ามเลือกเพศ ห้ามขายไข่/อสุจิ ห้ามรับจ้างตั้งท้อง ห้ามโฆษณา ห้ามโคลนนิง ห้ามมีคนกลาง หรือ เอเยนซี ห้ามคู่สมรสต่างชาติทั้งคู่ แต่หากคู่สมรสชาวต่างชาติต้องการคำปรึกษา หรือ รับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เช่น การทำกิฟต์ (GIFT) ทำซิฟต์ (ZIFT) ผสมเทียม (IUI) ก็สามารถทำได้ โดยกรม สบส. จะประสานขอความร่วมมือสถานทูตไทย ช่วยประชาสัมพันธ์ต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ชาวต่างชาติ อาทิ อิสราเอล ออสเตรเลีย บราซิล และ อเมริกา ให้การยอมรับฝีมือ และเดินทางเข้ามารับบริการกับแพทย์และสถานพยาบาลของไทย

2 มี ได้แก่ มีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งในประเทศไทยมีประมาณ 200 กว่าคน และมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ส่วน 3 ขอ ได้แก่ 1. ต้องขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ 2. ขออนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นรายคู่ อนุญาตเฉพาะคู่สมรสไทยที่สมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือคนไทยที่สมรสกับต่างชาติ และจดทะเบียนสมรสมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีเท่านั้น และ 3. ขออนุญาตให้มีการวิจัยตัวอ่อนจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

“หากทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เชื่อว่า จะช่วยยกระดับมาตรฐาน ความก้าวหน้าเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของไทย และสร้างชื่อเสียงในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) อันดับ 1 อย่างแน่นอน หากมีข้อสงสัย หรือต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ชั้น 4 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 02-193-7000 ต่อ18419 หรือ18418 และเฟซบุ๊กกลุ่มคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์” นพ.ภัทรพล กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น