xs
xsm
sm
md
lg

“ผลสำรวจสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้” แล้วคนไทยจะกินอะไรกันเล่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
มีรายงานทางหน้าหนังสือพิมพ์ ว่า เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) แถลงผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ 2559 ว่า ไทย-แพน ได้เก็บตัวอย่างผัก 10 ชนิด ผลไม้ 6 ชนิด 138 ตัวอย่างจากตลาดสดและห้างโมเดิร์นเทรด 7 แห่งใน กทม. ปริมณฑล จ.เชียงใหม่ และ จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16 - 18 มีนาคม 2559 โดยส่งไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ห้องปฏิบัติการในประเทศอังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างได้กว่า 450 ชนิด พบว่า พริกแดงมีสารเคมีตกค้าง 100% กะเพรา 66.7% ถั่วฝักยาว 66.7% คะน้า 55.6% ผักกาดขาวปลี 33.3% ผักบุ้งจีน 22.2% มะเขือเทศ 11.1% แตงกวา 11.1% มะเขือเปราะ และ กะหล่ำปลี 0% ส่วนผลไม้พบว่า ส้มสายน้ำผึ้ง ฝรั่ง มีสารเคมีตกค้าง 100% แก้วมังกร 71.4% มะละกอ 66.7% มะม่วงน้ำดอกไม้ 44.4% และแตงโม 0%

ตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์ ล้วนแต่เป็นพืชผักยอดนิยมของคนไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะพริก มีข้อมูลว่า คนไทยบริโภคพริกคนละ 5 กรัม/วัน หรือเท่ากับวันละ 300 ตัน แล้วถ้าพริกที่เราบริโภคอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมีสารเคมีตกค้าง ก็เท่ากับคนไทยต้องบริโภคยาฆ่าแมลงทุกครั้งเป็นของแถม ถ้าเป็นเช่นนี้ คนไทยจะอยู่กันอย่างไร เพราะไม่เพียงแต่ “พริกแดง” เท่านั้นที่มีสารเคมีตกค้าง กะเพราะ ถั่วฝักยาว คะน้า และพืชผักอื่น ๆ ที่เป็นเมนูหลัก ก็ล้วนแต่มียาฆ่าแมลงติดมาด้วยทั้งสิ้น

องค์การบริหารตำบลโป่งงาม อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หนึ่งในหลายพันแห่งที่ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำงบประมาณของแต่ละฝ่าย มาร่วมกันจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ สนับสนุนให้ประชาชนแสดงบทบาทในการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้แสดงบทบาทในการสนับสนุนประชาชนในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้สามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง

ด้วยความที่ต้องการให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเอง การบริหารกองทุนนี้จึงทำในรูปแบบคณะกรรมการ โดยมีประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นกรรมการ จัดทำโครงการที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยนำปัญหาในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่ง อบต.โป่งงาม ได้ร่วมกับ รพ.สต.โป่งงาม อสม. กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน กลุ่มคนพิการและผู้รักสุขภาพร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ ซึ่งมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จหลายโครงการ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ โครงการส่งเสริมการออกกำลังกาย โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ลดการเผา การทำปุ๋ยชีวภาพ การแปรรูปสมุนไพร การทำสเปรย์ไล่ยุงจากตะไคร้หอม โครงการเยาวชนวัยใสใส่ใจสุขภาพ และที่น่าสนใจคือ โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง โดยร่วมกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เน้นการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อบริโภค

สุขภาพจะแข็งแรงได้ นอกเหนือจากการออกกำลังกายให้พอเหมาะ และพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว การบริโภคอาหารปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก ในภาวะที่รัฐไม่สามารถจัดการให้การเกษตรเพื่อการค้ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างเพียงพอ ก็ต้องใช้พลังของชุมชนช่วยกันผลักดันให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี อาหารที่ดีและสุขภาพที่ดี โดยใช้กลไกของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ในการขับเคลื่อน พลังที่เกิดขึ้น ก็คือพลังของ “ประชารัฐ” นั่นเอง

การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ได้นำร่องดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลนำร่องจัดตั้งกองทุนรวม 888 แห่ง และต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 จึงได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ อปท. ในเรื่องการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการชุมชนในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ระหว่าง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยและสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน กองทุนดังกล่าวได้สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แม้ว่าจะอุปสรรคในการดำเนินการบ้างด้วยข้อจำกัดตามระบบราชการ แต่เชื่อแน่ว่า หากทุกฝ่ายเข้าใจและเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชน ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น