หมอชี้ตาบอดกลางคืน เกิดจากกรรมพันธุ์ ทำการมองเห็นกลางคืนแย่ลงตั้งแต่อายุ 20 เผย ขาดวิตามินเอทำบอดกลางคืนได้เช่นกัน
นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงอาการตาบอดกลางคืน ว่า เนื่องจากจอตาของคนเราจะมีเซลล์อยู่สองชนิดคือ Rod cells รับแสงในเวลากลางคืน และ Cone cells รับแสงในเวลากลางวัน ซึ่งหาก Rod cells เสียหายก็จะมีอาการตาบอดกลางคืนได้ ปกติคนเราจะมองเห็นไม่ได้ดีนักในเวลากลางคืนอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการมองเห็นภาพในเวลากลางคืนได้แย่กว่าคนปกติทั่วไป ส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ คือ ถูกกำหนดมาตั้งแต่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยจะมีการมองเห็นในเวลากลางคืนที่แย่ลงเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่อายุ 20 - 40 ปี ทั้งนี้ การมองเห็นระดับต่ำสุดของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บอกไม่ได้ว่าแต่ละคนจะถึงจุดไหน
นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า การขาดวิตามินเอก็มีส่วนทำให้มีอาการตาบอดกลางคืนได้ เพราะวิตามินเอมีส่วนสำคัญในการทำงานของ Rod cells แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยพบการขาดวิตามินเอ อาการนี้จึงมักจะเกิดจากกรรมพันธุ์เท่านั้น ซึ่งอาการตาบอดกลางคืนยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลเป็นที่ยอมรับ การทานวิตามินเออาจช่วยชะลอได้บ้าง แต่อาจเกิดผลเสียกรณีทานมากเกินไป ผู้ป่วยอาจใส่แว่นกันแดดป้องกันแสง หรือใช้อุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยสายตาเลือนลางช่วยในกรณีที่การมองเห็นแย่ลงมาก ปัจจุบันมีการวิจัยใช้เซลล์บำบัดในการรักษา แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันถึงผลการวิจัย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่