รวมร่าง พ.ร.บ. สเต็มเซลล์ ฉบับ สบส. และแพทยสภา เป็น ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. ... เสนอ รมว.สธ. แล้ว ก่อนชงเข้า ครม. ในเดือน มิ.ย. นี้ หวังคุมมาตรฐานการใช้เซลล์จากมนุษย์ สัตว์ พืช ครอบคลุมเรื่องการบำบัดรักษา ห้องเตรียมเซลล์ และธนาคารเซลล์
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการให้บริการที่ใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษาโรคหรือความงาม ว่า จากการประชุมร่วมกับแพทยสภา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการรวมร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยเซลล์ทางการแพทย์ พ.ศ. ...ของ สบส. และร่าง พ.ร.บ. เซลล์บำบัด พ.ศ. ...ของแพทยสภา เป็นร่างเดียวกัน เนื่องจากมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงสอดคล้องกัน โดยให้ใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. ....” ซึ่งเป็นการบูรณาการอำนาจของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สบส. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแพทยสภา มีทั้งหมด 8 หมวด และบทเฉพาะกาล รวม 59 มาตรา ครอบคลุมการให้บริการ และการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเซลล์บำบัดทุกรูปแบบ
“ปัจจุบันมีการนำสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด และผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ มาใช้เพื่อการบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือความเจ็บป่วยอย่างแพร่หลายทั่วโลก ส่วนประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยเฉพาะ มีเพียงข้อบังคับของแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเรื่องการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา แต่ครอบคลุมเฉพาะแพทย์เท่านั้น จึงต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. .... ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมมาตรฐานของการใช้เซลล์บำบัด คุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค และเพื่อส่งเสริมพัฒนาการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเซลล์บำบัด ทั้งการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค งานทันตกรรม รวมทั้งการบำรุงร่างกายและเสริมความงาม ป้องกันมิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง” อธิบดี สบส. กล่าวและว่า ขณะนี้ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือนมิถุนายน 2559 แล้ว
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. .... จะครอบคลุมการให้บริการ 4 ประเภท คือ 1. การใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา 2. ห้องปฏิบัติการเซลล์สำหรับใช้เตรียมเซลล์ ซึ่งรวมถึงการใช้หุ่นยนต์เตรียมเซลล์ด้วย 3. สถานที่จัดเก็บ รับฝากเซลล์มนุษย์ที่มีชีวิต หรือ ธนาคารเซลล์ เพื่อใช้บำบัดหรือทำเป็นผลิตภัณฑ์เซลล์ และ 4. กระบวนการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการประกาศ กำหนดให้กระทำโดยแพทย์ หรือทันตแพทย์เท่านั้นและดำเนินการในสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และต้องขึ้นทะเบียนต่ออายุทุก 5 ปี นอกจากนี้ ได้กำหนดข้อห้ามอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดอันตรายต่อประชาชน อาทิ ห้ามบุคคลที่มิใช่แพทย์ หรือทันตแพทย์ให้บริการเกี่ยวกับเซลล์บำบัด ห้ามโฆษณาหรือประกาศ โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินความจริง ห้ามมีนายหน้า เรียกรับผลประโยชน์ในการชี้ช่องทางการให้บริการ หากผู้ขึ้นทะเบียนหรือผู้ดำเนินการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้จะถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียน และกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน มีตั้งแต่จำคุกตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 บาท จนถึง 3,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่