xs
xsm
sm
md
lg

จี้ สธ.เอาผิดสมาคมเหล้าบิดเบือนคำพิพากษา อ้างโฆษณาไม่อวดสรรพคุณ จูงใจดื่มไม่ผิด กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เครือข่ายต้านน้ำเมา” หอบหลักฐานร้อง สธ. เอาผิดสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ท้าทายกฎหมาย ลงโฆษณาบิดเบือนคำพิพากษาศาล จูงใจให้ร้านค้าติดป้ายโฆษณา สื่อสารการตลาดเหล้าเบียร์

             วันนี้ (29 เม.ย. 59) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผ่าน นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการ รมว.สาธารณสุข และ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA ที่ลงโฆษณาบินเบือนข้อมูลหวังผลประโยชน์ทางการค้า ทั้งนี้ เครือข่ายฯได้ร่วมกันแสดงเชิงสัญลักษณ์เพื่อประณามธุรกิจดังกล่าว และนำหลักฐานมอบให้ สธ. ดำเนินการเอาผิดด้วย 

นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่เครือข่ายฯได้รวบรวมทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับอย่างต่อเนื่อง พบว่า สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ได้ลงโฆษณาจูงใจให้ผู้ประกอบการ ติดป้ายโฆษณา สื่อสารการตลาดเหล้าเบียร์ โดยจงใจใช้ข้อความที่บิดเบือนคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 15453/2557 โดยระบุข้อความว่า “มั่นใจได้ว่าทุกครั้งที่ติดสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่อวดอ้างสรรพคุณ และจูงใจให้ดื่มเป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย” ซึ่งข้อความลักษณะนี้ ถือเป็นการจงใจโฆษณาโดยให้ข้อมูลที่บิดเบือนตัดตอนเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการค้า และทำให้ผู้ค้ารายย่อยที่มีความตั้งใจปฏิบัติตามมกฎหมาย กระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเครือข่ายฯขอเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1. ขอให้เร่งตรวจสอบและดำเนินคดีกับสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หากพบว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และสร้างความสับสนให้ผู้ประกอบการตลอดจนประชาชนทั่วไป 2. ขอให้เร่งประชาสัมพันธ์กฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และอนุบัญญัติต่าง ๆ ที่ออกตามความแห่งกฎหมายฉบับนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และ 3. ขอเรียกร้องให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสมาคมดังกล่าวเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย หยุดความพยายามสร้างความสับสนบิดเบือนข้อเท็จจริงเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และให้ความร่วมมือเพื่อลดความสูญเสีย และปัญหาสังคมที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี 

 

            “การกระทำลักษณะนี้เป็นความพยายามจะลดการเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายที่ สธ. ได้ดำเนินการ เนื่องจากกฎหมายมีผลต่อการทำการตลาดที่จะเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ ฝ่ายธุรกิจจึงหันมาใช้วิธีนี้ และฝ่ายธุรกิจเตรียมทนายความเพื่อสู้คดี หากมีการเอาผิด นอกจากนี้ พฤติกรรมของสมาคมฯที่ตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ และมีพันธกิจปกป้องผลประโยชน์ของตนเองใช่หรือไม่ อีกทั้งในเว็บไซต์สมาคมฯ ระบุว่า จะส่งเสริมการดื่มรับผิดชอบ ต่อต้านการดื่มที่ไม่เหมาะสม ส่งเสริมให้เยาวชนไม่ดื่มนั้น จึงเป็นเพียงเปลือกนอกที่ดูดี แต่การทำโฆษณาโดยใช้ผลคดีและบิดเบือนการตีความนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า กลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์มีเจตนาแท้จริงเพื่อผลประโยชน์ธุรกิจ เพราะทราบดีว่าการห้ามโฆษณามีผลกระตุ้นให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ไม่ได้จึงต้องใช้วิธีการนี้ ซึ่งควรหยุดบิดเบือนข้อเท็จจริงเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะสวนทางกับสิ่งที่สังคมกำลังรณรงค์ลดอุบัติเหตุเจ็บตาย จะเห็นว่า ทุก ๆ ปีน้ำเมายังเป็นปัจจัยสำคัญของการสูญเสียช่วงสงกรานต์ ซึ่งปีนี้สถิติผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 442 ราย นับเป็นความสูญเสียมากที่สุดในรอบ 10 ปี ยิ่งกว่าสงครามหรือภัยธรรมชาติทุกประเภท หากธุรกิจนี้ยังมาซ้ำเติมสังคม โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณจูงใจให้ดื่ม ถือเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ขาดธรรมาภิบาล และไม่สนใจรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้น” นายชูวิทย์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ขอบคุณเครือข่ายที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย และแจ้งมาที่กระทรวงเพื่อดำเนินการต่อ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคภัย โภชนาการ สุขภาพ และการลดโรคจากการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ทั้งนี้ ตนจะได้นำเรื่องนี้เสนอข้อต่อ รมว.สาธารณสุข ต่อไป พร้อมกันนี้ ยังได้มอบหมายให้ นพ.สมาน เป็นผู้ดูแลศึกษาคำพิพากษาดังกล่าว ส่วนตัวเชื่อว่าคำโฆษณาที่มีการร้องเรียนนั้นเป็นการตัดคำพิพากษามาเพียงบางส่วนที่อาจจะไม่ถูกต้อง ส่วนสื่อที่มีการนำเสนอเรื่องนี้ต้องดูว่าจะมีความผิดฐานบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่

นพ.สมาน กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการนำเข้าที่ประชุม ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ผู้แทนกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจารย์ทางด้านนิเทศศาสตร์ ซึ่งเห็นว่าการไม่มีการโฆษณาในบนโลกนี้ที่จะไม่บอกสรรพคุณเพื่อชักชวนให้เกิดการซื้อสินค้า ส่วนการโฆษณานั้นก็มีหลายรูปแบบไม่ว่าจะทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความผ่านตัวอักษร เสียง ภาพยนตร์ ก็ถือว่าเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มยอดขายทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม หากสื่อต่าง ๆ ไม่ทราบหรือไม่มั่นใจว่าโฆษณาที่ลงไปนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ก็สามารถสอบถามเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น