xs
xsm
sm
md
lg

สอนลูกรักเป็นเด็กดี - มี 6Q ด้วยคำพูดง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยเห็นพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่น่ารักของลูก ๆ ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ทำลายข้าวของ หรือเข้ากับเพื่อน ๆ ไม่ได้ แต่ปัญหาเหล่านี้แก้ไข และป้องกันได้ง่ายนิดเดียว ด้วยการใช้คำพูดที่พูดในชีวิตประจำวันช่วยให้เด็ก ๆ รู้จัก และเรียนรู้ความสำคัญของการควบคุมอารมณ์ตัวเอง และรู้วิธีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ด้วย “คำสร้างสรรค์”
 
ในหนังสือ “26 คำพูดง่าย ๆ เสริมลูกรักให้มี 6Q” ผลงานเขียนของ อาจารย์ เอชิ ยุกุมิ (Eishi YUKUMI) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา มหาวิทยาลัยวะเซะดะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดถึงคำพูดสร้างสรรค์ง่าย ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อเห็นลูกซนคุณพ่อคุณแม่ก็อาจโมโหจนลืมนึกไปว่าต้องพูดกับลูกอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ โดยยกเหตุการณ์สมมติในรูปแบบการ์ตูนทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน เข้าใจง่าย และนำไปใช้ได้ทันที

นี่คือ ตัวอย่าง 10 คำพูดสร้างสรรค์ง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ญี่ปุ่นใช้สอนลูก ซึ่งได้ผลดีมาก จนเราอยากแนะนำต่อให้คุณพ่อคุณแม่ไทยนำไปลองพูดกับลูก ๆ ที่บ้านดู

1. ค่อย ๆ คำนี้ช่วยเพิ่มทักษะการควบคุมพฤติกรรม เช่น เมื่อลูกทำกิจกรรมด้วยพลังมากล้นจนเกินไป ทำอะไรเสียงดังไปหมด พ่อแม่อย่าห้าม แต่ควรใช้คำว่า “ค่อย ๆ” และยกตัวอย่างที่ถูกต้องแทน เช่น “ปิดประตูค่อย ๆ หน่อยจ้ะ” “คราวหลังต้องค่อย ๆ กว่านี้นะ” เป็นต้น

2. สำคัญ และมีค่า เด็กไม่เข้าใจว่าอะไร คือ “สิ่งสำคัญและมีค่า” จึงจำเป็นต้องสอนแต่เล็กว่า คนและสิ่งของมีความสำคัญ สำหรับเด็กที่ชอบทำร้าย หรือแกล้งเพื่อน พ่อแม่ควรสอนโดยใช้คำว่า “สำคัญ” เช่น ถ้าไม่เห็นเพื่อนเป็นคนสำคัญก็เล่นด้วยกันไม่ได้ หรือเด็กที่ชอบทำลายข้าวของ เช่น ขว้างช้อนทิ้ง พ่อแม่ก็พูดให้เห็นความสำคัญของของสิ่งนั้น “ไม่มีช้อนแล้วจะกินข้าวยังไง” เป็นต้น

3. ไม่ได้ คำนี้มีบทบาทสำคัญ พ่อแม่ควรพูดชม และแสดงความดีใจให้ลูกเห็นตามสมควรพร้อมตักเตือนด้วยคำว่า “ไม่ได้” เป็นบางครั้ง ไม่ควรใช้คำนี้มากเกินไปเพื่อขู่ให้เด็กกลัวโดยใช่เหตุ เช่น “ทำแบบนี้ไม่ได้นะ” แต่ถ้าพูดไม่ฟังให้รีบห้าม หรือหากพ่อแม่ให้ด็กช่วยทำงาน เมื่อทำเสร็จแล้วก็ควรชื่นชม เช่น เก่งจัง ขอบใจจ้ะ เป็นต้น
 

4. ถ้า...แล้วจะ ... คำนี้ช่วยสอนเรื่องการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น สิ่งสำคัญคือ เพื่อให้เด็กเข้าใจกติกาที่มองไม่เห็นด้วยตา และยอมรับกติกาที่ผู้ใหญ่หรือสังคมกำหนด ตัวอย่างที่เข้าเข้าใจได้ง่าย ๆ เช่น ถ้ากิน ...(ของที่ไม่ชอบ)... แล้วจะให้กิน...(ของที่ชอบ)... ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายตั้งกติกาเพื่อให้เด็กยอมกิน เมื่อเด็กยอมกินตามกติกา ควรพูดชมเชย เพื่อให้เด็กดีใจที่ถูกชม และอยากทำอีก

5. คนละครึ่ง คำนี้ช่วยเสริมสร้างความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ธรรมชาติของเด็กมักขี้หวง การที่เด็กจะแบ่งปันให้คนอื่นได้นั้นต้องมีผู้ใหญ่ช่วยแนะนำ หากพบว่าเด็กกำลังแย่งของเล่นกัน ผู้ใหญ่ควรเข้าไปไกล่เกลี่ย ใช้คำพูดง่าย ๆ เช่น “แบ่งให้เพื่อนเล่นบ้างสิจ๊ะ” หากยังไม่ยอม ผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นคนแบ่งให้เองเพื่อให้เขาเห็นตัวอย่าง และส่งเสริมด้วยความชมเชย

6. ขอยืม สอนให้เข้าใจสิทธิการครอบครอง เด็กเริ่มรู้จักการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับผู้อื่น เมื่ออายุประมาณ 1 ปี ผู้ใหญ่ควรสอนให้พูด “ขอยืม” เด็กจะเรียนรู้ว่าถ้าอนุญาตเจ้าของก่อนก็จะไม่เกิดปัญหาตามมา เช่น พูดกับลูกว่า “ขอยืมหน่อยสิจ๊ะ” หรือ “ถ้าเล่นเสร็จแล้วขอยืมนะจ๊ะ” “ถ้าเพื่อนไม่ให้ก็ไม่เป็นไรนะจ๊ะ” สอนเรื่องได้กับไม่ได้ ถ้าไม่ให้ยืมก็ไม่โวยวาย สอนให้หาวิธีอื่นดู ให้เด็กควบคุมตัวเอง ไม่ทำตามใจ

7. โตขึ้นแล้วนะ คำพูดนี้สร้างความมั่นใจในตัวเอง เด็กอาศัยสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างความมั่นใจ และพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ได้การยอมรับจากผู้อื่น เช่น เมื่อเด็กสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ควรพูดชมเชยพร้อมพูดว่า “โตขึ้นแล้ว” คำชมเชยจะสร้างความกระตือรือร้น เช่น หรือเมื่อทำผิดให้ใช้คำพูดกลับกัน เช่น “โตขึ้นแล้วทำไมไม่กินผักละจ๊ะ” เป็นต้น

8. สนุกดีนะ คำพูดนี้สอนให้แสดงความรู้สึกของตัวเอง คำแสดงความรู้สึกเหล่านี้ควรใช้ในเชิงบวก เช่น พ่อแม่ลองถามความรู้สึกลูกว่าไปเที่ยววันนี้ ได้ทำสิ่งนี้สิ่งนั้น รู้สึกอย่างไร สนุกมั้ย ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ควรแสดงความรู้สึกเชิงบวกต่อลูกด้วยเพื่อตอกย้ำความรู้สึกของลูก สามารถใช้คำที่ค้ลายกันได้ เช่น “น่าสนใจนะ” “ตื่นเต้นจัง”

9. เสียดายจังแต่ทำไม่ได้ เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิด เช่น คำนี้ช่วยสอนเด็กให้ตัดใจ ยอมรับความจริง และปรับความรู้สึกของตนเอง เช่น วันนี้ไม่ได้ไปเที่ยวแล้วเพราะพ่อติดธุระจริง ๆ “ไว้คราวหน้าแล้วกันนะ” อุตส่าห์ตั้งตารอ “เสียดายจัง” “ช่วยไม่ได้จริง ๆ นี่นา” ไว้วันหยุดคราวหน้าแล้วกันนะ พูดให้ความหวังถ้าเป็นไปได้ และชมเชยเมื่อเด็กปรับอารมณ์ได้

10. ขอบคุณ เป็นคำที่สอนให้เด็กรู้ว่าตนทำตัวมีประโยชน์ ขณะที่สอนเด็กพูด “ขอบคุณ” ผู้ใหญ่ก็ควรพูด “ขอบคุณ” เด็กบ่อย ๆ เช่นกัน เพราะเมื่อเด็กได้ยินจะช่วยให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และยิ่งพูด “ขอบคุณ” กันในครอบครัวมากเท่าไร ยิ่งทำให้เด็กเข้าใจความหมายยิ่งขึ้นเท่านั้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างการพูดแบบสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งเท่านั้น ในหนังสือ “26 คำพูดง่าย ๆ เสริมลูกรักให้มี 6Q” โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ยังมีคำพูดสร้างสรรค์อีกมากมายที่คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองสามารถนำมาใช้สอนลูกให้เป็นเด็กดี และมี 6Q

หากเมื่อใดรู้สึกว่าเด็กมีปัญหาด้านพฤติกรรม ให้ลองคิดว่าเด็กอาจไม่รู้จัก “คำสร้างสรรค์” ก็เป็นได้ เมื่อเข้าใจกลไกที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านั้น ให้ลองนำมาปรับหาวิธีรับมือที่เหมาะสมต่อไป การเรียนรู้ “คำสร้างสรรค์” ในช่วงเริ่มต้นของชีวิตจะส่งผลดีต่ออนาคตของเด็กแน่นอน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น