ผู้เชี่ยวชาญแนะ เด็กช่วงวัยแรกเกิดถึง 3 ปี สมองพัฒนาได้มากถึง 70% ย้ำ ผู้ปกครองควรฉกฉวยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกระตุ้นพัฒนาการของลูก นอกจากการอ่านนิทานแล้ว หนังสือที่ชักชวนพ่อแม่ทำกิจกรรมกับลูกมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองได้อย่างดี
ธิดา พิทักษ์สินสุข หรือ ครูหวาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็ก กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงพัฒนาการทางด้านสมองของเด็กวัย 0 - 3 ปี ว่า สมองของเด็กช่วงวัยนี้จะสร้างเส้นใยสมองอย่างรวดเร็ว และเชื่อมโยงกันถึงแสนล้านเซลล์ ประสบการณ์การเรียนรู้จากสภาพแวดล้อม ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การได้ยิน การมอง การลิ้มรส การได้กลิ่น และการใช้ผิวสัมผัส โดยประสาทสัมผัสจะเป็นตัวนำข้อมูลเข้าสู่สมอง เพื่อให้สมองไปตีความและเกิดการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ในส่วนของพัฒนาการด้านภาษานั้น พบว่า ช่วงแรกเกิด - 3 ปี เป็นช่วงวัยที่เหมือนฟองน้ำที่ซึมซับเอาสิ่งที่เด็กได้ยินกับสิ่งที่เห็น เก็บสะสมเป็นคลังคำในสมอง เมื่อวันหนึ่งร่างกายพร้อมเด็กจะพูดออกมาได้ นั่นเพราะว่าเขามีต้นทุนที่ดี นอกจากนั้น ช่วงวัยนี้ยังเป็นช่วงที่เด็กกำลังพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่มีเวลาทำกิจกรรมกับลูกเยอะ ๆ จะทำให้ลูกมีความรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ เมื่อเด็กมีความรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ ก็จะเปิดใจรับการเรียนรู้อีกมากมายที่เกิดขึ้นขณะที่สมองพร้อม ฉะนั้น กาย กับ ใจ และสมอง ก็จะพัฒนาไปพร้อมกัน
ครูหวาน ยังให้คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ในการทำกิจกรรมกับลูก เพื่อพัฒนาสมองได้อย่างเต็มศักยภาพว่า พ่อแม่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับลูก ชวนลูกพูดคุย ชี้ชวนดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การนำหนังสือเข้ามาก็เป็นตัวช่วยได้ แต่ถ้าจะให้เกิดประโยชน์มากขึ้นควรทำควบคู่ไปกับการทำกิจกรรม เพราะการเรียนรู้ในวัยเด็กเกิดขึ้นจากการเล่น ในปัจจุบันมีหนังสือกิจกรรมที่แนะแนวทางให้กับพ่อแม่ แต่ทั้งนี้ พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า หนังสือไม่ใช่แบบฝึก ฉะนั้นอย่าเร่งรัดลูกจนเกินไป มิฉะนั้น จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ และการอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำ ๆ กับเด็ก จะช่วยให้เด็กเกิดการจดจำ คาดเดาเนื้อหาในเล่มได้ และรู้สึกภูมิใจเมื่อจำหรือคาดเดาเรื่องได้ ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง ผู้ใหญ่ไม่ควรคิดแทนเด็กว่า เด็กจะเบื่อ และหากเด็กจำเนื้อหาได้แล้ว อาจให้เด็ก ๆ เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เล่าบ้าง
ในปัจจุบันหนังสือกิจกรรมสำหรับเด็กมีมากมาย แต่สำหรับเด็กวัย 0 - 3 ปีนั้น ยังมีน้อยมาก หนังสือชุดหนูน้อยเตรียมความพร้อมตั้งแต่แรกเกิด - 3 ปี โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ที่แปลจากภาษาญี่ปุ่น เป็นอีกตัวเลือกสำหรับพ่อแม่ โดยภายในชุดประกอบด้วย 4 เล่ม แบ่งตามอายุ 0 - 3 ปี ตามลำดับ
ครูหวานได้แนะนำการใช้หนังสือชุดนี้ว่า หนูน้อยเตรียมความพร้อม ตั้งแต่แรกเกิด เหมาะกับวัยแรกเกิดถึง 1 ปี จะเห็นว่า ภาพจะเป็น รูปภาพในเล่มเป็นภาพเดี่ยวๆ รายละเอียดไม่เยอะ และเริ่มต้นจากสีขาวดำ เพราะเด็กวัยนี้ยังแยกแยะรายละเอียดไม่ได้และเริ่มมองเห็นสีที่ตัดกันชัดเจน เช่น สีขาวตัดกับสีดำ สีขาวกับสีแดง กิจกรรมที่พ่อแม่ทำกับลูกได้คือชี้ภาพให้ลูกมองและ เคลื่อนนิ้วจากซ้ายไปขวาอย่างช้า ๆ ฝึกการกรอกสายตา ใช้เสียงต่าง ๆ ประกอบกับให้ลูกมองภาพ เด็กก็จะเกิดการจดจำ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเสียงและภาพ
หนูน้อยเตรียมความพร้อม ตั้งแต่ 1 ปี เหมาะกับวัย 1 - 2 ปี ในช่วงนี้กล้ามเนื้อของเด็กเริ่มพัฒนามากขึ้น จากลำตัวที่เป็นกล้ามเนื้อใหญ่ออกไปสู่กล้ามเนื้อเล็ก เช่น นิ้วมือ ภายในเล่มจะเป็นสี่สีและมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น โดยเน้นกิจกรรมที่บริหารนิ้วมือ เช่น กิจกรรมติดสติกเกอร์ ซึ่งเด็กอาจติดผิดบ้างถูกบ้างก็เป็นเรื่องปกติ เพราะวัยนี้ยังควบคุมกล้ามเนื้อเล็กได้ไม่ดีนัก จุดมุ่งหมายของกิจกรรมเพียงแค่ฝึกให้เด็กหยิบและแปะได้เท่านั้น ภายในเล่มก็จะมีภาพที่มีสีและรายละเอียดมากขึ้นตามวัย
หนูน้อยเตรียมความพร้อม ตั้งแต่ 2 ปี เหมาะกับวัย 2 - 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ควรพัฒนาด้านการสังเกต เด็กจะเริ่มแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้ ภายในเล่มจึงเน้นไปที่พื้นฐานของความเข้าใจ การเคลื่อนสายตา สี การเรียกชื่อของใช้ เริ่มแยกแยะความเหมือนความต่าง เด็กช่วงวัยนี้เริ่มจับดินสอได้ พ่อแม่ควรหาดินสอที่ขนาดใหญ่เพื่อให้จับได้ถนัด
หนูน้อยเตรียมความพร้อม ตั้งแต่ 3 ปี เหมาะกับวัย 3 - 4 ปี รูปภาพในเล่มจะมีรายละเอียดมากขึ้น กิจกรรมมีความท้าทายมากขึ้น เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้คำศัพท์มากขึ้น ซึ่งช่วยเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ในอนาคต
หนังสือชุดนี้จะช่วยให้ทั้งพ่อแม่และลูกได้เรียนรู้ในหลากหลายแง่มุม พ่อแม่เองได้เรียนรู้วิธีเล่นกับลูก พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ในขณะที่ลูกก็ได้พัฒนาสมอง ฉะนั้นได้ประโยชน์ทั้งพ่อแม่และลูก เกิดการเรียนรู้และสนุกไปพร้อมกัน นอกจากจะเป็นหนังสือที่ใช้เล่นกับลูกแล้วยังเป็นคู่มือของพ่อแม่ด้วย
ครูหวาน บอกว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่อาจสนใจกับเรื่องสุขภาพอนามัย อาหาร ความเป็นอยู่ จนลืมเรื่องการสร้างสัมพันธ์และการเรียนรู้ของลูก หนังสือจึงเป็นสื่อในการกระตุ้นไม่ให้เราลืมเรื่องกระบวนการพัฒนาสมองการเรียนรู้ของเด็กไป เราต้องไม่ลืมว่าสมองของเด็กทำงานตลอดเวลา การเรียนรู้เกิดขึ้นมากในวัยนี้ ฉะนั้นหากพ่อแม่ได้ทำกิจกรรมกับลูกตั้งแต่ช่วงวัยนี้ มันจะเป็นการสร้างต้นทุนให้สมองของเขา ทั้งเรื่องภาษา และประสาทสัมผัส ที่เป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญต่อเชาว์ปัญญา
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะพัฒนาสมองของลูกด้วยวิธีการใด ๆ ขอเพียงพ่อแม่มีความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก ไม่เคร่งเครียดกดดันจนเกินไป หมั่นให้ความรักความอบอุ่นอยู่เสมอ เด็กจะเติบโตอย่างชาญฉลาดได้ไม่ยาก
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่