อย.ห่วงวัยรุ่นซื้อ “ยาแก้เซ็กซ์เสื่อม” กิน หวังทำรอบเรื่องบนเตียง เสี่ยงเจอยาปลอม เหตุเป็นยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งแพทย์ถึงจำหน่ายได้ และไม่มีขายในร้านขายยา พบขายเกลื่อนตามข้างทาง เว็บไซต์ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวถึงกรณีวัยรุ่นนิยมซื้อยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือยาแก้เซ็กซ์เสื่อมมาใช้หวังทำรอบ เพิ่มการมีเซ็กซ์มากขึ้น โดยไม่มีการปรึกษาแพทย์ ว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ใช้ยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศผิดวิธี ใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ คือ เพื่อรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศตามที่ขึ้นทะเบียนยาไว้ แต่กลับซื้อเพื่อมาหวังทำรอบมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศถือเป็นยาควบคุมพิเศษ จะต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้นจึงจะสามารถจำหน่ายยาได้ ที่น่าห่วงนั้นไม่ใช่การไปซื้อตามร้านขายยา เพราะไม่มีวางขายตามปกติ ปัญหาคือ การไปซื้อยาเหล่านี้ที่ขายตามข้างทาง หรือตามเว็บไซต์ ซึ่งเป็นยาที่ไม่มีทะเบียน หรือลักลอบนำเข้ามา ซึ่งจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นยายี่ห้อดังๆ จากต่างประเทศทั้งนั้น ที่ผ่านมา อย.เคยตรวจจับ และอายัดยาเหล่านี้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นยาปลอมทั้งสิ้น
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ยาเหล่านี้มีตัวยาอยู่บ้างแต่ปริมาณยานั้นไม่แน่นอน สาเหตุที่มียาปลอมแพร่ระบาดเพราะช่วงหลังที่ยาดังกล่าวหมดลิขสิทธิ์ ตัววัตถุดิบในการผลิตยานี้ก็มีราคาถูกลงจึงทำให้มีคนลักลอบผลิต และปลอมแปลงมาขาย จะเห็นได้ว่า จะนำมาวางขายเกลื่อนตามข้างทาง และเว็บไซต์ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เช่น ขายยาปลอม มีโทษจำคุก 1-20 ปี แล้วแต่พยานหลักฐาน และพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งฐานความผิดไม่เท่ากัน การขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ ถ้ายาตัวนั้นต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่เอามาขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ามีความผิดกรณีโฆษณาขายยาด้วย เช่น การโฆษณาขายยาในอินเทอร์เน็ต จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
“การขายยาให้แก่วัยรุ่น หรือคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และมีใบสั่งแพทย์ว่าจำเป็นต้องใช้ หากเป็นเภสัชกรที่ขายก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งจะมีสภาเภสัชกรรมในการดูแลเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ โดยอาจถึงขั้นถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทำให้ในส่วนของเภสัชกรนั้นมักไม่ค่อยมีปัญหาในการขายยาที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะมีโทษของสภาวิชาชีพอยู่ และไม่ได้มีการขายทั่วไปในร้านขายยา” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่