xs
xsm
sm
md
lg

สพฉ.รับมือผู้ป่วยฉุกเฉินช่วงสงกรานต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สพฉ.พร้อมรับมือผู้ป่วยฉุกเฉินช่วงเทศกาลสงกรานต์ ย้ำช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้เร็ว และมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสรอดชีวิต แนะประชาชนเมาไม่ขับ และหลีกทางรถพยาบาล ย้ำหากเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาฟรี

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเท่าตัว เนื่องจากประชาชนเดินทางสัญจรกันมากขึ้น โดยสถิติจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปี 2558 พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 27,821 ราย ต้องเข้าพักรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,985 ราย มีผู้เสียชีวิต 405 ราย โดยสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ร้อยละ 25 เกิดจากเมาสุราแล้วขับ ส่วนการออกปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 นั้นสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ภายใน 8 นาที กว่าร้อยละ 70.21 และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ภายใน 10 นาที ร้อยละ 79.52 ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงกรานต์นี้ สพฉ.ได้ประสานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุ และสั่งการทั่วประเทศให้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1669 ให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว และในปีนี้ได้เพิ่มการแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านแอปพลิเคชัน “EMS1669” เพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะทำให้การแจ้งเหตุแม่นยำ และไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สพฉ.ยังประสานหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินในเตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินให้เพียงพอต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยจะมีผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ และจังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง โดยเฉพาะในวันที่ 12 เม.ย.ที่คาดว่าประชาชนจะเดินทางมากขึ้น

“สิ่งสำคัญที่สุดของการลดอัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุ คือ ผู้ขับขี่ต้องดูแลตัวเองด้วย คือ ดื่มไม่ขับ-ง่วงไม่ขับ โทร.ไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย-สวมหมวกนิรภัย และปฏิบัติตามกฎจราจรทุกครั้ง นอกจากนี้ สิ่งสำคัญ คือ หากเห็นรถพยาบาลเปิดเสียงไซเรน และไฟฉุกเฉินควรหลีกทางให้ด้วยเพราะทุกวินาทีมีความสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน”

นพ.อนุชา ยังกล่าวต่อถึงนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาได้ในทุกโรงพยาบาลฟรี ในช่วง 72 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้น ให้ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยผู้ป่วยที่เข้าข่ายอาการฉุกเฉินวิกฤตจะอยู่ใน 25 กลุ่มอาการ เช่น มีระดับการรู้สติเปลี่ยนแปลงไป ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น ระบบหายใจวิกฤต ระบบเลือดไหลเวียนวิกฤต หรือหากไม่แน่ใจว่าเข้าข่ายอาการวิกฤตหรือไม่ หากคิดว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทร.แจ้งสายด่วน 1669

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น