xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการย้ำห้ามแพร่ “จดหมายลาตาย” ในข่าว ละเมิดสิทธิ ชงยกระดับวิชาชีพสื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการชี้สื่อเสนอข่าวฆ่าตัวตาย มุ่งเผยปมเหตุ และวิธีการ พบละเมิดความเป็นส่วนตัว ย้ำต้องไม่เปิดเผยความลับ ห้ามแพร่จดหมายลาตาย ยกสหรัฐฯ ไม่นิยมตีข่าว เหตุกฎหมายแรงฟ้องร้องได้ ชงนำเสนอรูปแบบข่าวสุขภาพ เน้นการป้องกัน ชูผู้กำกับมะกัน นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นยกระดับวิชาชีพ ไม่เขียนฉากฆ่าตัวตาย

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) กล่าวว่า จากการติดตามการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชน พบว่า สื่อจะให้ความสนใจต่อข่าวการฆ่าตัวตายที่สำเร็จเท่านั้น หากฆ่าตัวตายไม่สำเร็จก็จะไม่เป็นข่าว ยกเว้นกรณีบุคคลสาธารณะ โดยสาเหตุการตายที่ระบุในสื่อบางครั้งพบว่าไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง แต่เป็นการลงสาเหตุที่ง่ายต่อคนอ่าน เช่น ฆ่าตัวตายเพราะพ่อแม่ไม่ซื้อโทรศัพท์ให้ซึ่งความเป็นจริงอาจมีมากกว่านั้น โดยพบว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายหลักๆ ที่ระบุไว้ในสื่อมีดังนี้ 1. กลุ่มเด็ก เยาวชนและวัยรุ่น มี 3 สาเหตุด้วยกัน คือ “รัก เรียน เริ่ด” คือ เรื่องความรักที่ผิดหวัง ผลการเรียนไม่ดี ถูกบังคับให้เรียน และเริ่ด คือ ไม่สวย ไม่รวย อ้วน ไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น เป็นต้น 2. กลุ่มวัยทำงาน คือ เรื่องเศรษฐกิจ เช่น การเป็นหนี้ ล้มละลาย พนันบอล เรื่องรัก เนื่องจากเป็นช่วงสร้างครอบครัว มักจะเป็นเรื่องชิงรักหักสวาท และเรื่องความสำเร็จในชีวิต 3. กลุ่มผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ คือ เรื่องเศรษฐกิจ และสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ ไม่อยากเป็นภาระให้แก่ลูกหลาน

นายธามกล่าวว่า ส่วนลักษณะของข่าวการฆ่าตัวตายในสื่อพบว่า จุดสนใจของข่าวจะอยู่ที่ปมเหตุของการฆ่าตัวตาย วิธีในการฆ่าตัวตาย และข่าวมักจะละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยตามหลักการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายนั้นมี 3 ประเด็น คือ 1. ต้องรักษาความลับ การรายงานข่าวต้องไม่เปิดเผยวิธีการ ปมสาเหตุการตาย อาการของโรคของผู้ตาย ยกเว้นมีเงื่อนงำคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ ไม่เปิดเผยข้อความลาตาย บทสนทนา ข้อความส่วนตัวของผู้ตาย ซึ่งแม้จะแพร่ออกไปทางโซเชียลมีเดียแล้วก็ตาม ไม่นำเสนอภาพศพของผู้ตาย ไม่นำเสนอชี้นำวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจฆ่าตัวตายของผู้เสียชีวิต ไม่ควรอ้างว่าสื่ออื่นนำเสนอไปแล้วจนที่รับรู้ไปทั่ว และต้องไม่รายงานข่าวการฆ่าตัวตายจนนำไปสู่การลอกเลียนแบบ ควรเน้นการป้องกันมากกว่า จึงเสนอว่าการรายงานข่าวฆ่าตัวตายควรเป็นไปในมิติเชิงสุขภาพว่าจะลักษณะเช่นนี้จะป้องกันได้อย่างไร

นายธามกล่าวว่า 2. ต้องเคารพความเป็นส่วนตัว เพราะครอบครัวอาจไม่ต้องการที่จะเป็นข่าว ซึ่งในสหรัฐอเมริกานั้นกฎหมายจะเข้มงวดมาก หากพบการฆ่าตัวตายจะนำเสนอข่าวไม่ได้จนกว่าจะแจ้งให้ญาติของบุคคลนั้นทราบก่อน หากญาติมาทราบข่าวการฆ่าตัวตายผ่านสื่อสามารถฟ้องร้องได้ และ 3. ต้องไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะภาพข่าวการฆ่าตัวตาย ไม่ควรเห็นภาพศพ อย่างมากที่สุดคือ ร่างที่ถูกห่อแล้วเท่านั้น นอกจากการรายงานข่าวแล้ว การนำเสนอเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชนยังอยู่ในรูปแบบของละครด้วย สื่อต้องไม่นำเสนอฉากภาวะซึมเศร้าของตัวละครที่นำไปสู่การหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ต้องนำเสนอฉากที่ผู้คนรอบข้างเข้ามาช่วยเหลือ รับฟัง เยียวยา หรือร่วมแก้ปัญหา ไม่นำเสนอบริบทของเรื่อง เหตุผลแวดล้อมจนสร้างความบีบคั้นให้ตัวแสดง และเมื่อเด็กมีปัญหาชีวิตจะต้องแสดงให้เห็นฉากที่พ่อแม่เข้าไปช่วยเหลือรับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ

“ขณะนี้ที่สหรัฐอเมริกามีการยกระดับของกลุ่มผู้กำกับ ที่กำหนดร่วมกันว่าจะไม่เขียนฉากที่มีการฆ่าตัวตาย ขณะที่ญี่ปุ่นนักเขียนการ์ตูนก็กำหนดร่วมกันว่าจะไม่นำเสนอฉากการฆ่าตัวตายในการ์ตูน เพราะญี่ปุ่นที่ผ่านมา มีเด็ก และวัยรุ่นฆ่าตัวตายจากหนังสือการ์ตูนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของตัวเองขึ้น” นายธามกล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น