ได้อย่างไม่เสียอย่างฉบับนี้ ขอพูดถึงละครเรื่องหนึ่งที่กำลังออกอากาศอยู่ในขณะนี้และได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากว่าเป็นละครน้ำดีที่สะท้อนปัญหาของเด็กและเยาวชนในสังคมบ้านเราได้เป็นอย่างดี ผมกำลังพูดถึงละครเรื่อง “วัยแสบสาแหรกไม่ขาด” ครับ
ละครกำลังเสนอภาพของเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา เช่น “น้องโชกุน” ที่มักจะโกหกเป็นประจำ “น้องปิ๊กปิ๊ก” ที่มีฐานะร่ำรวยแต่ชอบขโมย “น้องตังเม” ที่เก็บกดและหมกมุ่นอยู่กับการฆ่าตัวตาย “น้องมินนี่” ที่เป็นดาราวัยรุ่น มีนิสัยหลงตัวเอง ขี้เหวี่ยง ขี้วีน และเป็นจอมเผด็จการ และสุดท้าย “หวาย” เด็กเรียบร้อยแต่มักแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง โดยสาเหตุของพฤติกรรมทั้งหมดของเด็กเหล่านี้เกิดมาจากความไม่สมบูรณ์ของ “ครอบครัว” โดยเล่าที่มาที่ไปของแต่ละครอบครัวที่บ้านแตกสาแหรกขาด พ่อไปทาง แม่ไปทาง หรือมีพ่อมีแม่อยู่ พ่อแม่ก็เป็นคนก้าวร้าว มีอารมณ์รุนแรง และมักจะเอาอารมณ์รุนแรงนั้นไปลงกับลูก
โดยส่วนตัวผมคิดว่า ละครสะท้อนสังคม แต่สะท้อนส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด เราต้องยอมรับนะครับว่า โครงสร้างของสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่ใช่สังคมที่เป็นครอบครัวขยายเหมือนสมัยก่อน และคำว่าครอบครัวของคนยุคนี้ก็ไม่ได้แปลว่า “พ่อ-แม่-ลูก” เสมอไป สามีภรรยาจำนวนมากที่เลือกการหย่าร้างแทนที่จะทนอยู่ด้วยกันเพราะต่างคนต่างสามารถพึ่งพาตัวเองในเชิงเศรษฐกิจได้ (ข้อมูลจากกรมการปกครองเราก็จะพบว่าอัตราการจดทะเบียนสมรสของประชากรไทยน้อยกว่าอัตราการหย่าหลายเท่าตัว) หากเรามองว่า ครอบครัวที่ไม่อบอุ่นคือสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เราก็ต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการทำให้ครอบครัวของเด็กๆ กลับมาอบอุ่น
ในละครอาจทำได้ครับ แต่ชีวิตจริง เราแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย “เรา” ซึ่งผมหมายถึงคนทำงานเรื่องเด็กและเยาวชน คุณครู นักจิตวิทยา หรือจะใครก็แล้วแต่ ไม่มีความสามารถในการทำให้สามีและภรรยาที่เลิกรากันไปแล้วกลับมาอยู่ด้วยกัน แสร้งว่ารักกัน เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นว่ามีพ่อแม่ครบเหมือนเพื่อนๆ ได้หรอกครับ และเราก็คงไม่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเป็นพ่อเป็นแม่ให้เอาใจใส่ รักทะนุถนอม พูดจากับลูกดีๆ ไม่รุนแรงหรือดุด่าลูกได้
สิ่งที่เราทำได้คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ทำให้เด็กเข้าใจว่า พ่อแม่เราไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ครอบครัวเราไม่จำเป็นต้องเหมือนครอบครัวของใคร การทำให้เด็กมีความสามารถเผชิญกับ “ความจริง” ที่เป็นอยู่ สำคัญกว่า การพยายามสร้างสิ่งรอบตัวให้ดีเพื่อให้เด็กอยู่ในโลกของความดี เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น เรื่องเด็กติดโซเชียลนี่แหละครับ พอมองเห็นว่าการติดโซเชียลคือปัญหา สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำคือการห้ามเด็กไม่ให้มีสมาร์ทโฟน การกำจัดเวลาในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ รวมถึงการบล็อกดาร์กเว็บต่างๆ เพื่อพยายามกำจัดสิ่งที่เป็นปัญหาของออกจากตัวเด็ก แทนที่จะทำงานกับความคิดของเด็กให้เข้าใจและมีวินัยในตัวเองในการเล่นโซเชียลเหล่านี้
เรื่องเอดส์ก็เช่นกันครับ ตราบใดที่เรายังทำงานกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยไม่ได้ทำงานกับ “ตัวเด็ก” ที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี ทำให้เด็กๆ เหล่านี้รู้สึกว่า ชีวิตเขามีเรื่องราวมากมายที่ต้องไปเผชิญและผู้ใหญ่อย่างเราไม่มีทางตามไปจัดการให้เขาทุกเรื่องได้ เด็กที่เหล่านี้ก็จะไม่มีวัน “หลุด” ออกจากเอชไอวีที่อยู่ในตัวของเขา
ที่พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดทำงานกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเด็กให้เข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ นะครับ แต่หมายถึงว่า เราอาจจะต้องทำงานกับตัวเด็กมากขึ้นให้พร้อมเผชิญกับสังคมและมองว่าเอดส์ไม่ใช่ปัญหา เอดส์เป็นเพียง “เรื่องหนึ่ง” ของชีวิต ไม่ใช่ “ทั้งหมด” ของชีวิต
ผมหวังว่า วันหนึ่งจะเห็นเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์ ในบ้านเราขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีระดับนานาชาติ เหมือนกับเด็กอเมริกันที่ติดเชื้อเอชไอวีคนหนึ่งกล่าวบนเวทีการประชุมเอดส์โลกว่า “ฉันไม่ใช้ปัญหา สังคมต่างหากที่มีปัญหากับเอชไอวี”
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่