xs
xsm
sm
md
lg

รุกตั้งคลินิกพิเศษฟื้นฟูกลุ่มดาวน์ซินโดรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิต เผย เด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรมขาดโอกาสรับการพัฒนาอื้อ เดินหน้าตั้งคลินิกพิเศษฟื้นฟูกลุ่มดาวน์ แนะตรวจตั้งแต่แรกคลอด

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวว่า เนื่องในวันที่ 21 มี.ค. ของทุกปี เป็นวันดาวน์ซินโดรมโลก จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจถึงศักยภาพและความสำเร็จของบุคคลที่มีภาวะกลุ่มอาการดาวน์หรือดาวน์ซินโดรมทั่วโลก ในประเทศไทยพบการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรมได้ 1 ใน 800 -1,000 ประชากร ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลประชากรไทย เมื่อปี 2558 มีประชากรที่เป็นดาวน์ซินโดรมอยู่ที่ 70,000 - 80,000 คน โดยกลุ่มอาการดาวน์ เป็นภาวะที่เกิดจากการมียีนหรือสารพันธุกรรมบนโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินเป็นสามแท่ง จนส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ เด็กกลุ่มนี้จึงมักจะมีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกัน และความเชื่อเดิม ๆ ว่า พัฒนาการเด็กกลุ่มนี้จะล่าช้าจึงมักสร้างตราบาป หรือข้อจำกัดต่อโอกาสในสังคม แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่พัฒนาปัจจุบันทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อการสร้างโอกาสการพัฒนา ทำให้ผู้มีอาการดาวน์สามารถใช้ชีวิตในครอบครัวและสังคมอย่างมีความสุข

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ให้ความสำคัญในการพัฒนาความพร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันการป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูดูแลผู้มีอาการดาวน์ แบบครบวงจร จัดบริการและพัฒนาเป็นคลินิกพิเศษเฉพาะด้านและครอบคลุมตั้งแต่แรกคลอดถึง 18 ปี โดยจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ทั้ง ด้านพัฒนาการ การป้องกันโรคแทรกซ้อน ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ พร้อมทั้งการดูแลด้านอารมณ์และการเรียนรู้ ซึ่งการเลี้ยงเด็กกลุ่มอาการดาวน์ให้ยึดหลัก 3 H ได้แก่ การดูแลสุขภาพ (Health) การมีความหวัง (Hope) และการดูแลด้วยหัวใจของเรา (Heart)

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ กลุ่มอาการดาวน์จำนวนมากยังขาดโอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เห็นได้จากอัตราการเข้าถึงบริการของผู้บกพร่องทางสติปัญญาปี 2556 ที่มีการเข้าถึงร้อยละ 8.4 สะท้อนให้เห็นว่าการส่งเสริมสุขภาพและกระตุ้นพัฒนาการในเด็กกลุ่มนี้ยังขาดความครอบคลุม รวมถึงขาดโอกาสเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนการศึกษาพิเศษหรือโรงเรียนร่วม ซึ่งพบว่านักเรียนบกพร่องทางสติปัญญาที่อยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษและเรียนร่วมปี 2557 มีเพียง 26,250 คน โดยการพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มอาการดาวน์เพื่อให้ดำรงชีวิตอิสระได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน
อีกสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดโรคของอวัยวะต่าง ๆ อาทิ ปัญหาสายตา ปัญหาการได้ยิน ปัญหาไทรอยด์พบได้มากกว่า 1 ใน 4 จะรบกวนการเรียนรู้และจำเป็นต้องตรวจประเมินตั้งแต่วัยทารกและติดตามต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโรคหัวใจโดยกำเนิดพบถึง 40% ในส่วนของร่างกายและวิถีชีวิต จะเกิดโรคอ้วนและปัญหาแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ได้ง่าย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น