เล็งพัฒนาคุณภาพ “คลินิกเลิกบุหรี่” ร่วมเป็นเครือข่าย “คลินิกฟ้าใส” จัดอบรมบุคลากรพร้อมสนับสนุนเครื่องมือ ตั้งเป้าสิ้นปี 59 ขยายคลินิกฟ้าใสจาก 340 แห่ง เป็น 400 แห่งทั่วประเทศ
ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา รองผู้จัดการโครงการพัฒนาบุคลากรแกนนำและโครงข่ายบริการเลิกเสพยาสูบระดับชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การลดปริมาณผู้สูบบุหรี่นั้น ปัจจัยสำคัญ คือ การบำบัดผู้ติดบุหรี่ให้สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งมีการเปิดคลินิกให้บริการบำบัดและเลิกบุหรี่ขึ้น แต่คลินิกและบุคลากรอาจยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่มากนัก ทำให้การดำเนินงานยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่ผ่านมา จึงมีการจัดทำโครงการเครือข่ายคลินิกฟ้าใส ที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพและระบบบริการเลิกบุหรี่ให้แก่คลินิกในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้สามารถสร้างเครือข่ายคลินิกฟ้าใสช่วยให้บริการบำบัดและเลิกบุหรี่ได้แล้วประมาณ 340 แห่งทั่วประเทศ โดยปลายปี 2559 นี้ ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนเครือข่ายคลินิกฟ้าใสอีกประมาณ 60 แห่ง รวมเป็น 400 แห่งทั่วประเทศ
ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาคลินิกเลิกบุหรี่ให้เป็นเครือข่ายคลินิกฟ้าใสจะมีการดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ 1. เปิดรับสมัครคลินิกเลิกบุหรี่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการเครือข่ายคลินิกฟ้าใส โดยจะมีการออกภาคสนามเพื่อกระตุ้นความสนใจ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีคลินิกเลิกบุหรี่จำนวนมากให้ความสนใจที่จะเข้าร่วม 2. พัฒนาคุณภาพการให้บริการเลิกบุหรี่ ซึ่งตรงนี้เครือข่ายคลินิกฟ้าใสจะช่วยพัฒนาคุณภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถเชิงลึกในการให้บริการให้คำแนะนำการบำบัดและเลิกบุหรี่ โดยมีการฝึกทักษะและทำเวิร์กชอปว่าหากมีคนไข้เข้ามาลักษณะเช่นนี้จะให้คำแนะนำอย่างไร จากนั้นจึงให้กลับไปปฏิบัติงาน และสนับสนุนเครื่องมือในการทำงานด้วย เช่น เครื่องวัดคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่าผู้เข้ารับบริการเลิกบุหรี่นั้นสามารถเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่ เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งไม่ได้มีการจัดหาไว้ให้ และ 3. การตรวจการดำเนินงานภายในคลินิกว่าเป็นอย่างไร พร้อมให้คำแนะนำหากมีข้อต้องปรับปรุง เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น
“การมีคลินิกให้บริการเลิกบุหรี่จำนวนมาก ๆ นั้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะช่วยให้ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่เข้าถึงบริการได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะขยายเครือข่ายคลินิกฟ้าใสให้มีจำนวนมาก ๆ นั้น อาจยังทำได้ไม่รวดเร็วนัก เพราะการดำเนินงานของเครือข่ายฯ คือการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของคลินิกเลิกบุหรี่ จึงมองว่าค่อย ๆ เพิ่มจำนวนคลินิกเลิกบุหรี่ที่มีคุณภาพเข้ามาในเครือข่ายอย่างมั่นคงจะดีกว่าเพิ่มจำนวนโดยที่ไม่มีคุณภาพ” ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่