xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ลงนามร่วม ร.ร.แพทย์ 19 แห่ง เพิ่มเข้าถึงบริการ บุคลากร และวิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. เอ็มโอยู ร่วม กลาโหม ศธ. สปสช. คณะแพทยศาสตร์ 19 มหาวิทยาลัย ใช้ทรัพยากรร่วมกัน พัฒนาระบบบริการ การส่งต่อ ผลิตบุคลากร และการวิจัย เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดแออัด ป่วยตาย รอคอย และความเหลื่อมล้ำ รักษาเบ็ดเสร็จในเขตสุขภาพ

วันนี้ (17 ก.พ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข มีพิธีลงนามความร่วมมือด้านระบบบริการ การส่งต่อ การศึกษา และการวิจัย ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และความร่วมมือในระดับพื้นที่ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์จาก 19 มหาวิทยาลัย กับ 12 เขตสุขภาพ สธ.

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของวงการสาธารณสุขที่บูรณาการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมมือกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ทุกเขตสุขภาพ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย รักษาเบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ ลดป่วย ลดตาย ลดแออัด และลดการรอคอย เป็นการดำเนินงานตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 เรื่อง จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โดย สธ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ในภาพรวมของประเทศ ระยะยาว (5 - 10 ปี) ประกอบด้วย 1. การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ เพิ่มการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ การผลิตแพทย์เฉพาะทาง การวิจัยในระดับสากลและองค์ความรู้ใหม่ 2. การสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพ ลดการส่งต่อนอกเขตสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ การผลิตแพทย์เชี่ยวชาญและเฉพาะทาง และ3.การลดความเหลื่อมล้ำของสถานบริการ

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การดำเนินงานเป็น 3 ด้าน คือ ด้านบริการ การผลิตบุคลากร และด้านการวิจัย โดยกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน เพื่อพิจารณาการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ทั้งจำนวน สาขา และที่ตั้ง ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน พร้อมนำร่างยุทธศาสตร์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปในเดือนมีนาคมนี้

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า สาระสำคัญข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ด้านบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และระบบส่งต่อ ในการเพิ่มเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้ได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐานภายในเขตสุขภาพ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยครบวงจรภายในเขตสุขภาพแบบไร้รอยต่อ 2. ด้านผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษา ทั้งก่อนปริญญา และหลังปริญญา 3. ด้านวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข และ 4. กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับติดตามและประเมินผล เพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น